
คลิปจัดฉากถูกแชร์ในโพสต์เท็จว่าเป็นภาพ 'อดีตประธานธนาคารแห่งประเทศจีน' ที่ถูกตัดสินประหารชีวิต
- เผยแพร่ วันที่ 25 มีนาคม 2568 เวลา 05:04
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, Tommy WANG, AFP ประเทศไทย, AFP ฮ่องกง
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"ระดับประธานธนาคารชาติจีนเมื่อต้องโทษประหารชีวิตก็ถึงกับเข่าอ่อนเดินไม่เป็นกันเลย" ผู้ใช้งาน X เขียนคำบรรยายในโพสต์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568
"กฎหมายเขาศักดิ์สิทธิ์จึงมีความเกรงกลัวไม่เหมือนข้าราชการไทยกว่า 80% ที่โกงกันทั้งชาติทุกหย่อมหญ้า"
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) จัดอันดับประเทศไทยให้อยู่ในลำดับที่ 107 จากทั้งหมด 180 ประเทศในดัชนีคอร์รัปชันประจำปี 2567 (ลิงก์บันทึก)
คลิปในโพสต์มีความยาว 33 วินาที และเผยให้เห็นชายในเครื่องแบบคนหนึ่งเดินกะเผลกออกจากสถานีตำรวจ ก่อนจะมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเข้ามาประคอง

ในเดือนพฤศจิกายน 2568 หลิว เหลียงเก๋อ อดีตประธานธนาคารแห่งประเทศจีน ถูกตัดสินประหารชีวิตโดยรอลงอาญา ฐานรับสินบนจำนวน "มหาศาล" กว่า 121 ล้านหยวน (565 ล้านบาท) (ลิงก์บันทึก)
กฎหมายจีนระบุว่าโทษของหลิวสามารถถูกเปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิตได้ หลังจากรับโทษไปแล้วอย่างน้อย 2 ปี
คำตัดสินคดีของหลิวเชื่อมโยงกับนโยบายปราบการทุจริตคอร์รัปชั่นของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเขากล่าวว่าแนวทางนี้ส่งเสริมธรรมาภิบาลที่สะอาด ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนมองว่าเป็นการกวาดล้างคู่แข่งทางการเมือง
โพสต์เฟซบุ๊กในประเทศไทยได้แชร์วิดีโอดังกล่าวพร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันว่าเป็นภาพหลิวขณะที่ถูกตัดสินประหารชีวิต ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานรายอื่นเข้าใจผิด
"ถ้าเอากฏหมายแบบจีนมาใช้ จะเหลือนักการเมืองกี่คนครับ" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งเขียนแสดงความคิดเห็น
อย่างไรก็ตาม จากการค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลพบว่าวิดีโอดังกล่าวเป็นการจัดฉาก
วิดีโอจัดฉาก
วิดีโอนี้ถูกเผยแพร่ในช่องบิลิบิลิ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแชร์วิดีโอของประเทศจีน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567 หรือก่อนที่หลิวจะถูกตัดสินประหารชีวิต (ลิงก์บันทึก)
คำบรรยายวิดีโอระบุว่า "เขาถูกเรียกพบคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเป็นครั้งแรก ตื่นเต้นจนควบคุมอารมณ์ไม่อยู่" โดยไม่ได้มีการกล่าวถึงโทษประหารหรือคดีทุจริตแต่อย่างใด
ผู้เผยแพร่คลิปดังกล่าวยังได้แสดงความคิดเห็นใต้คลิปอย่างชัดเจนว่าคลิปดังกล่าวเป็นการแสดง โดยมีนักแสดงรับบท และขอให้ผู้ชม "อย่าถือเป็นเรื่องจริงจัง"
นอกจากนี้ ผู้ใช้รายนี้มักเผยแพร่วิดีโอที่มาจากซีรีส์อาชญากรรมของจีนชื่อดังไว้ในบัญชีหลายเรื่อง เช่น "In the Name of the People" และ "We Are Criminal Police" (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
ขัดแย้งกับความจริง
นอกจากนี้ ชายที่ปรากฏในคลิปวิดีโอไม่ใช่หลิวตามคำกล่าวอ้าง เมื่อเทียบกับภาพของหลิวที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวซินหัว โดยแสดงให้เห็นหลิวกำลังรายงานตัวในศาลประชาชนกลางจี่หนานในซานตง (ลิงก์บันทึก)
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของคลิปในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพที่ถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าวซินหัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 (ขวา)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา