
โพสต์เท็จอ้างว่าไฟเซอร์เปิดเผยผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด
- เผยแพร่ วันที่ 21 มีนาคม 2568 เวลา 07:43
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Ivan FISCHER, AFP โครเอเชีย
- แปลและดัดแปลง โดย Oluseyi AWOJULUGBE , AFP Nigeria , Pasika KHERNAMNUOY , AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"ตะลึง! ไฟเซอร์ เพิ่งเปิดเผยผลข้างเคียงของวัคซีนโควิดฯ ยาวเหยียด อาทิ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน-ภาวะไตวายเฉียบพลัน-ภาวะหัวใจล้มเหลว" โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 ระบุ
นอกจากนี้ โพสต์ดังกล่าวยังระบุรายการผลข้างเคียงอื่น ๆ รวมถึงอาการที่มีอันตรายถึงชีวิต เช่น ภาวะลิ่มเลือดในสมองอุดตัน ไขสันหลังอับเสบอ่อนแรงเฉียบพลัน และอื่น ๆ ในช่องแสดงความคิดเห็นอีกหลายรายการ


คำกล่าวอ้างนี้ถูกนำไปแชร์ในโพสต์อื่น ๆ ในภาษาอังกฤษ รวมถึงโพสต์ X ของสเตลลา เอมมานูเอล อายุรแพทย์สหรัฐฯ ที่มีประวัติวิจารณ์การรักษาโรคโควิด-19 แบบต่าง ๆ โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดครั้งใหญ่
อย่างไรก็ตาม AFP ไม่พบหลักฐานใดที่ยืนยันว่าเอกสารรายการผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนเป็นข้อมูลที่ถูกเผยแพร่โดยบริษัทไฟเซอร์
นอกจากนี้ คำกล่าวอ้างในโพสต์เท็จก็ยังขัดแย้งกับข้อมูลทางการของหน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลก
รายการผลค้างเคียงปลอม
การค้นหาแบบจำกัดเฉพาะเว็บไซต์ของไฟเซอร์พบข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 หรือช่วงหนึ่งปีหลังองค์การอนามัยโลกประกาศยุติสถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดของโรคโควิด-19
ไฟเซอร์ระบุว่า องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ ได้อนุญาตให้มีการใช้วัคซีนโคเมอร์เนตี (ชื่อทางการค้า) ที่ได้รับการปรับปรุงสูตรเป็นพิเศษสำหรับโควิดสายพันธุ์โอไมครอน KP.2 (ลิงก์บันทึก)
โพสต์บางส่วนพยายามโยงแถลงการณ์ดังกล่าวว่าไฟเซอร์เปิดรายการผลค้างเคียงรุนแรงจากการฉีดวัคซีน
ข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับล่าสุดเกี่ยวกับวัคซีนโคเมอร์เนตีซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ของไฟเซอร์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ระบุว่าคณะกรรมการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ยาสำหรับใช้ในมนุษย์ (CHMP) ให้ความเห็นเชิงบวกต่อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ได้รับการปรับปรุงสูตรสำหรับโควิดสายพันธุ์โอไมครอน KP.2 ในสหภาพยุโรป (ลิงก์บันทึก)
มีอาการข้างเคียงในโพสต์เท็จเพียงสามรายการเท่านั้นที่สอดคล้องกับข้อมูลจากทางการ ได้แก่ โรคอัมพาตใบหน้า (จัดอยู่ในกลุ่ม "หายาก" โดยองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (ทั้งสองอาการถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม "หายากมาก" โดยองค์การสาธารณสุขหลายแห่ง) (ลิงก์บันทึก)
แต่ในโพสต์เท็จกลับอ้างถึงผลข้างเคียงหลายรายการที่อันตรายถึงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นภาวะหัวใจหยุดเต้น โรคใหลตาย ตัวอ่อนทารกตายในครรภ์ โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ลมชัก ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใดให้การรับรองข้อมูล
ข้อมูลล่าสุด
หน่วยงานควบคุมผลิตภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ของโครเอเชีย (HALMED) กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 ว่าโดยปกติแล้ว "รายการของผลข้างเคียง" จะไม่ได้ถูกเผยแพร่จากบริษัทผู้ผลิต แต่มาจากหน่วยงานกำกับดูแลในกรณีที่มีข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้ว
"ผู้ถือใบอนุญาตผลิตยามีหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยของยาและวัคซีนอย่างต่อเนื่องตามข้อบังคับทางกฎหมาย ตราบใดที่ยาหรือวัคซีนนั้น ๆ ยังวางขายในตลาด" โฆษกของ HALMED กล่าว
"ดังนั้น พวกเขาจึงต้องส่งข้อมูลใหม่หรือการค้นพบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ให้ทางการเป็นผู้ประเมินและพิจารณา นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ จะได้รับรายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงหลังใช้ตัวยาจากคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง"
HALMED ระบุว่าบริษัทผู้ผลิตยาต้องส่งรายงานข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของยาและวัคซีนเป็นระยะ ๆ หรือที่เรียกว่ารายงานความปลอดภัยของยาตามระยะเวลาที่ครอบคลุม (PSUR)
รายงาน PSUR ฉบับล่าสุดของวัคซีนโคเมอร์เนตีมีการเก็บข้อมูลในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และองค์การยาแห่งสหภาพยุโรปก็ได้เผยแพร่คำแนะนำการใช้วัคซีนในเดือนกรกฎาคม 2567 โดยอ้างอิงข้อมูลจากรายงานความปลอดภัยนี้ (ลิงก์บันทึก)
เนื่องจากองค์การยาแห่งสหภาพยุโรปไม่พบความเปลี่ยนแปลงของข้อมูลด้านความเสี่ยงและประโยชน์ของวัคซีน จึงอนุญาตให้มีการใช้วัคซีนต่อไป โดยการจัดทำรายงาน PSUR ฉบับถัดไปจะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2568
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ขององค์การยาแห่งสหภาพยุโรประบุกับ AFP ว่า พวกเขาเริ่มอัปเดตข้อมูลของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในเดือนพฤศจิกายน 2567 เพื่อเพิ่มข้อมูลด้านความปลอดภัยของวัคซีนเกี่ยวกับทารกที่เกิดจากผู้ที่ฉีดวัคซีนในช่วงตั้งครรภ์และผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยข้อมูลล่าสุดจากผลการวิจัยทั้งสามฉบับไม่พบอันตรายหรือผลข้างเคียงเพิ่มเติม (ลิงก์บันทึก)
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ยังกล่าวอีกว่า องค์การยาแห่งสหภาพยุโรปร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขแห่งชาติของประเทศต่าง ๆ และบริษัทผู้ผลิต มีหน้าที่ตรวจสอบและจัดการปัจจัยด้านความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงผลข้างเคียงที่อาจส่งผลกระทบต่อปลอดภัยของวัคซีน (ลิงก์บันทึก)
หากมีกระบวนการตรวจสอบ คณะกรรมการประเมินความเสี่ยงในการใช้ยาของสหภาพยุโรป (PRAC) จะเผยแพร่คำแนะนำว่าควรดำเนินการอย่างไรหากสงสัยว่าพบผลข้างเคียงของวัคซีน โดยข้อมูลผลข้างเคียงหรือปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด รวมถึงข้อมูลกระบวนการสังเกตผลข้างเคียงใหม่จะถูกเผยแพร่เป็นข้อมูลสาธารณะ เช่นเดียวกับกรณีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่เคยถูกพบก่อนหน้า (ลิงก์บันทึกที่นี่ นี่ และนี่)
ข้อมูลจากองค์การยาแห่งสหภาพยุโรประบุว่าปัจจัยเสี่ยงล่าสุดซึ่งถูกพบในเดือนมีนาคม 2567 คือ "ภาวะเลือดออกหลังวัยหมดระดู" แต่จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าอาการดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนโคเมอร์เนตี (ลิงก์บันทึก)
ส่วนข้อมูลด้านความปลอดภัยล่าสุดของวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อต่าง ๆ รวมถึงวัคซีนโคเมอร์เนตี ระบุว่าวัคซีนทุกชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในยุโรปนั้นปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ (ลิงก์บันทึก)
"นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ประชาชนในสหภาพยุโรปและเขตเศรษฐกิจยุโรปได้รับวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วมากกว่าหนึ่งพันล้านโดส ซึ่งถือเป็นเป็นการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์" องค์การยาแห่งสหภาพยุโรประบุบนเว็บไซต์
"หน่วยงานกำกับดูแลมีข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ยืนยันได้ว่าวัคซีนโควิดต่าง ๆ นั้นปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ"
ด้านบริษัทไฟเซอร์ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เผยแพร่รายการผลข้างเคียงตามคำกล่าวอ้างบนสื่อสังคมออนไลน์
"ไฟเซอร์ไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่รายการผลข้างเคียง และรายการนั้นไม่ได้สะท้อนถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนของเราซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง" โฆษกของบริษัทกล่าวกับ AFP ผ่านอีเมล
"จากจำนวนของผู้ที่ได้รับวัคซีนนี้ไปแล้วหลายพันล้านเข็มทั่วโลก เราจึงยืนยันได้ว่าวัคซีนของเรายังคงมีความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งานที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทุกกลุ่ม"
การตีความผลข้างเคียงแบบผิด ๆ
โพสต์เฟซบุ๊กบางส่วนยังนำรายการผลข้างเคียงของไฟเซอร์จากเอกสารในปี 2564 มาอ้างในบริบทที่เป็นเท็จ (ลิงก์บันทึก)
เอกสารดังกล่าวระบุผลข้างเคียงทั้งหมดที่บันทึกไว้หลังจากการฉีดวัคซีน รวมถึงรายการปัญหาด้านสุขภาพที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าอาจมีความเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีนในเชิงทฤษฎี
รายการผลข้างเคียงนี้เคยถูกนำไปแชร์ในโพสต์เท็จที่อ้างว่าไฟเซอร์ถูกบังคับให้เปิดเผยเอกสารข้อมูลผลข้างเคียงของวัคซีน โดย AFP ตรวจสอบประเด็นดังกล่าวในปี 2565
ในเดือนกันยายน 2566 HALMED บอกกับ AFP ว่าอาการที่เกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนไม่ได้เป็นผลจากการฉีดวัคซีนเสมอไป
"ข้อมูลเกี่ยวกับรายงานผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่ายาหรือสารออกฤทธิ์จะทำให้เกิดอาการดังกล่าว หรือไม่ปลอดภัยต่อการใช้งานจริง" และ "มีเพียงแค่วิธีการตรวจสอบอย่างละเอียดและการประเมินทางวิทยาศาสตร์จากข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดเท่านั้นที่จะทำให้เราสามารถสรุปประโยชน์และความเสี่ยงของยาได้" HALMED ระบุ
AFP ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จที่เกี่ยวกับวัคซีนและโรคโควิด-19 สามารถอ่านรายงานภาษาไทยได้ที่นี่ และนี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา