นี่เป็นการชุมนุมต้านคอร์รัปชันในเซอร์เบีย ไม่ใช่การประท้วงในตุรกี

หลังจากที่เอเครม อิมาโมกลู นายกเทศมนตรีของเมืองอิสตันบูล คู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญของประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ถูกจับกุมในข้อหาคอร์รัปชันและให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย วิดีโอฉบับหนึ่งถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพการประท้วงในตุรกี แต่ที่จริงแล้ว วิดีโอดังกล่าวบันทึกการชุมนุมต่อต้านคอร์รัปชันในกรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย 

"ชาวตุรกีจำนวนมากออกมาประท้วงขับไล่ ตอยยิบ เฮอดูกัน เนื่องจากการจับคุมนายกฯ อิสตันบูล ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญ ที่มีความนิยมสูงกว่าเฮอดูกัน" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายในโพสต์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568

โพสต์ดังกล่าวแชร์คลิปวิดีโอที่เผยให้เห็นผู้คนจำนวนมากรวมตัวกันบนท้องถนน โดยมีแสงไฟจากโทรศัพท์มือถือส่องสว่างในยามค่ำคืน 

คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ออกไปหลังอิมาโมกลูถูกตำรวจตุรกีควบคุมตัวเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ซึ่งเป็นชนวนที่นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ของประชาชน และการปะทะกับเจ้าหน้าตำรวจ (ลิงก์บันทึก)

อิมาโมกลู สมาชิกพรรค CHP ฝ่ายค้านหลักของตุรกี ถือเป็นคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญของประธานาธิบดีแอร์โดอัน โดยเขาถูกควบคุมตัวเพียงไม่กี่วันก่อนที่พรรค CHP จะประกาศให้เขาเป็นแคนดิเดตของการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2571

นอกจากจะถูกนานาชาติประณามแล้ว การคุมขังอิมาโมกลูในข้อหาคอร์รัปชันและสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายยังส่งผลให้เกิดการประท้วงที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปีของตุรกีอีกด้วย (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

วิดีโอเดียวกันยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันในโพสต์ภาษาไทยอื่นที่นี่ และ นี่ และในภาษาอื่น เช่น ภาษาอังกฤษ  อาหรับ และ กรีก

อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวไม่ได้ถูกถ่ายในประเทศตุรกีตามคำกล่าวอ้าง แต่ถูกถ่ายในประเทศเซอร์เบีย

การชุมนุมต้านคอร์รัปชันในกรุงเบลเกรด

การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมจากวิดีโอ พบโพสต์ X ที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 ที่ระบุว่าเป็นวิดีโอจากเหตุการณ์ในกรุงเบลเกรด (ลิงก์บันทึก)

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมากที่สุดนับตั้งแต่การเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันในเซอร์เบียเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 (ลิงก์บันทึก)

การเคลื่อนไหวดังกล่าวปะทุขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ที่หลังคาของสถานีรถไฟในเมืองโนวีซาดพังถล่มลงมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 16 ราย ซึ่งยิ่งเพิ่มกระแสความไม่พอใจต่อปัญหาคอร์รัปชันในประเทศและภาครัฐที่เพิกเฉยต่อมาตรการรักษาความปลอดภัยในโครงการก่อสร้าง (ลิงก์บันทึก)

กระทรวงมหาดไทยของเซอร์เบียระบุว่า มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 อย่างน้อย 107,000 คน ขณะที่องค์กรสังเกตการณ์ผู้ชุมนุม หรือกลุ่ม Public Assembly Archive ประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมประมาณ 275,000 ถึง 325,000 คน

AFP ได้เผยแพร่ภาพถ่ายและวิดีโอของการชุมนุมประท้วง โดยเผยให้เห็นลักษณะสำคัญที่สอดคล้องกับวิดีโอที่ถูกแชร์อย่างผิด ๆ บนโลกออนไลน์

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพที่เผยแพร่โดย AFP (บนขวา) และวิดีโอที่เผยแพร่โดย AFP (ล่างขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบสำคัญที่สอดคล้องกัน

AFP พบว่าวิดีโอดังกล่าวบันทึกการชุมนุมที่จัตุรัสสลาวิยา (Slavija square) ณ ใจกลางกรุงเบลเกรด (ลิงก์บันทึก)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการประท้วงหลังอิมาโมกลูถูกจับกุม สามารถอ่านรายงานภาษาไทยได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา