
คลิปเก่าถูกนำมาอ้างในโพสต์เท็จว่าพบผู้รอดชีวิตเพิ่มจากเหตุอาคารถล่ม
- เผยแพร่ วันที่ 25 เมษายน 2568 เวลา 10:57
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Pasika KHERNAMNUOY, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"ผ่านมาแล้ว 14 วัน และปาฏิหาริย์ก็ยังมี ตรวจพบผู้รอดชีวิตอีก 1 ราย จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว" คำบรรยายโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2568 ระบุ ขณะที่ข้อความบนวิดีโอเขียนว่า "เก่งจังเลยอยู่ได้นานอดทนมาก 11/4/68"
วิดีโอในโพสต์ดังกล่าวซึ่งมียอดรับชมมากกว่า 7,900 ครั้ง แสดงเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่กู้ภัยพยายามนำร่างของผู้บาดเจ็บออกจากซากอาคารถล่ม

แผ่นดินไหวขนาด 7.7 ในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,700 ราย โดยสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ไกลถึงในหลายพื้นที่ของจีนและไทย
อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในกรุงเทพฯ ที่พังถล่มแม้ตั้งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากกว่า 1,000 กิโลเมตร นำไปสู่การสืบสวนเกี่ยวกับองค์กรและบริษัทผู้รับเหมาชาวจีนซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างอาคารดังกล่าว (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)
วิดีโอและคำกล่าวอ้างเท็จนี้เริ่มถูกแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์ในไทยและเมียนมา หลังจากที่มีรายงานว่าพบสัญญาณไฟใต้ซากตึก ซึ่งคาดว่าอาจเป็นแสงไฟจากโทรศัพท์มือถือของผู้รอดชีวิต (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)
อย่างไรก็ตาม รายงานสถานการณ์ประจำวันที่ 12 เมษายน ของกทม. ระบุว่าพบร่างผู้เสียชีวิตห้ารายจากปฏิบัติการค้นหาและกู้ซากตึก (ลิงก์บันทึก)
การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมของวิดีโอที่ถูกแชร์ในโพสต์เท็จบนกูเกิล พบคลิปวิดีโอคล้ายกันจากอีกมุมหนึ่งบนบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ "Fire & Rescue Thailand" เมื่อวันที่ 28 มีนาคม โดยเพจดังกล่าวมักเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่กู้ภัยจากกลุ่มต่าง ๆ ทั่วประเทศ (ลิงก์บันทึก)
คำบรรยายวิดีโอในโพสต์ระบุว่า "เวลา 20.00 น. วินาทีนำร่างผู้ได้รับบาดเจ็บ ออกจากซากตึกถล่ม เหตุอาคารถล่มจากแผ่นดินไหว"
แอดมินของเพจดังกล่าวยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 16 เมษายน ว่าคลิปวิดีโอนี้บันทึกโดยอาสาสมัครกู้ภัยจากมูลนิธิร่วมกตัญญู พร้อมระบุว่านี่เป็น "คลิปเก่า ไม่ใช่ของวันที่ 11 เมษา"

นอกจากนี้ กทม. กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 17 เมษายน ว่าผู้รอดชีวิตทั้งเก้าคนได้รับการช่วยเหลือออกจากซากอาคารภายในคืนวันที่ 28 มีนาคม เท่านั้น และยังไม่พบผู้รอดชีวิตเพิ่มเติมหลังจากนั้นอีก
"ไม่มีรายงานการค้นพบผู้รอดชีวิตในวันที่ 11 เมษายน" ตัวแทนของกทม. ปฏิเสธคำกล่าวอ้างเท็จ
สำนักข่าวในประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไทย เอ็นไควเรอร์ (Thai Enquirer) บีบีซีนิวส์ และฟรานซ์ 24 ต่างก็ใช้คลิปดังกล่าวประกอบรายงานข่าวเกี่ยวกับปฏิบัติการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากตึกถล่มหลังแผ่นดินไหวในเดือนมีนาคม (ลิงก์บันทึกที่นี่ นี่ และนี่)
อ่านรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP เกี่ยวกับแผ่นดินไหวเมียนมาได้ที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา