
คลิปเก่าปี 2566 จากแผ่นดินไหวตุรกี ถูกแชร์ในโพสต์เท็จว่าเป็นเหตุการณ์ล่าสุด
- เผยแพร่ วันที่ 30 เมษายน 2568 เวลา 11:33
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
ข้อความภาษาไทยในวิดีโอยูทูบที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 ระบุว่า "เหตุการณ์แผ่นดินไหวเทืองอีสตันบลูประเทศตุรกี 23/04/2025 ขนาด6.2 magnitude ลึก6km." พร้อมทั้งแชร์ภาพผู้คนวิ่งหนีจากอาคารที่พังถล่ม
ยูทูบดังกล่าวผู้ติดตามกว่า 66,000 คน โดยคำบรรยายในคลิปก็ระบุว่าเหตุการณ์ในคลิปเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดในตุรกี

วิดีโอเดียวกันนี้ยังปรากฏในแพลตฟอร์มอื่น เช่น เฟซบุ๊ก และ ติ๊กตอก หลังเกิดแผ่นดินไหวในอิสตันบูล (ลิงก์บันทึก)
รัฐมนตรีมหาดไทยตุรกี อาลี เยอร์ลิกายา เผยว่าเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว ซึ่งรวมไปถึงอาฟเตอร์ช็อกกว่า 120 ครั้ง ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงและไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ
ผู้สื่อข่าว AFP รายงานว่า ประชาชนจำนวนมากวิ่งหนีแรงสั่นสะเทือนออกมานอกอาคาร บางส่วนเลือกที่จะหลบภัยในสวนสาธารณะหรือพื้นที่โล่งต่าง ๆ ในเมือง ขณะที่บางคนใช้สมาร์ทโฟนตรวจสอบข้อมูลหรือโทรติดต่อคนรู้จัก
ผู้ว่าการเมืองอิสตันบูล ดาวูต กูล ระบุว่ามีอาคารร้างสูงสามชั้นแห่งหนึ่งในย่านฟาติห์ของอิสตันบูล พังถล่มลงมา แต่ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บ
อย่างไรก็ตาม คลิปดังกล่าวไม่ได้มาจากเหตุแผ่นดินไหวในอิสตันบูลเมื่อเดือนเมษายน 2568
การค้นหาภาพย้อนหลังด้วยการใช้คีย์เฟรมของวิดีโอพบว่า คลิปเดียวกันนี้เคยถูกเผยแพร่ใน X เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 โดยระบุว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองซานลิอูร์ฟา ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีใกล้พรมแดนกับประเทศซีเรีย (ลิงก์บันทึก)
วันนั้นเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนกว่า 53,000 รายในตุรกี และอีกเกือบ 6,000 รายในซีเรีย (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวถือว่ารุนแรงที่สุดในตุรกีนับตั้งแต่ปี 1939 และสะท้อนถึงช่องโหว่ของมาตรฐานการก่อสร้างในประเทศ ที่แม้แต่อาคารใหม่ก็ไม่สามารถทนแรงสั่นสะเทือนได้ (ลิงก์บันทึก)

สื่อท้องถิ่นของตุรกีอย่าง Ensonhaber และ Ihlas Haber Ajansi ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับอาคารที่พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวในปี 2566 พร้อมเผยแพร่ภาพจากคลิปเดียวกัน (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
จากข้อมูลดังกล่าว AFP สามารถระบุสถานที่ในคลิปว่าถ่ายที่ถนน Ataturk ในเมืองซานลิอูร์ฟา (ลิงก์บันทึก)

ข้อมูลเท็จมักถูกเผยแพร่หลังเหตุแผ่นดินไหวและภัยพิบัติต่าง ๆ อ่านรายงานตรวจสอบข้อมูลเท็จของ AFP ได้ที่นี่ นี่ และ นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา