คลิปวิดีโอทุ่งนาถูกคลื่นสึนามิพัดถล่ม เป็นเหตุการณ์จากเดือนมีนาคม 2554 ไม่ใช่มกราคม 2567

  • เผยแพร่ วัน 16 มกราคม 2024 เวลา 10:39
  • อัพเดตแล้ว วัน 16 มกราคม 2024 เวลา 10:54
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
วิดีโอคลื่นยักษ์ซัดอาคารเข้าชายฝั่งและทุ่งนาถูกแชร์โดยผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ และมียอดรับชมกว่าหลายแสนครั้ง โดยโพสต์เหล่านี้อ้างว่าวิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นคลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ริกเตอร์นอกชายฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 อย่างไรก็ตาม แม้วิดีโอดังกล่าวจะแสดงให้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสึนามิจริง แต่เป็นเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในเดือนมีนาคม 2554 ที่จังหวัดมิยางิ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ไม่ใช่เหตุแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นในวันปีใหม่ 2567

ผู้ใช้งานติ๊กตอกแชร์วิดีโอฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยวิดีโอมีข้อความภาษาไทยฝังอยู่ว่า "สึนามิที่ญี่ปุ่นวันนี้"

วิดีโอดังกล่าวมีความยาวประมาณหนึ่งนาที และเผยให้เห็นภาพจากมุมสูงของคลื่นยักษ์ ที่กำลังพัดบ้านเรือนและเศษซากต่างๆ เข้าฝั่ง

จังหวัดอิชิกาวะ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ริกเตอร์และอาฟเตอร์ช็อกกว่า 1,000 ครั้ง โดยอาฟเตอร์ช็อกบางครั้งมีความรุนแรงกว่า 5.0 ริกเตอร์ และส่งผลให้บ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเสียหาย

ภัยพิบัติดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 222 ราย ส่วนผู้รอดชีวิตหลายพันคนยังคงอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิง

แผ่นดินไหวครั้งนี้ยังทำให้เกิดคลื่นสึนามิ โดยมีคลื่นสูงอย่างน้อย 1.2 เมตร (4 ฟุต) ซัดเข้าท่าเรือวาจิมะ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าคลื่นสึนามิสูง 3 เมตรได้ซัดเข้าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ชิกะ

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ติ๊กตอกที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

โพสต์ที่คล้ายกันนี้ยังถูกแชร์ในโพสต์ติ๊กตอกอื่นๆ เช่น ที่นี่ และ นี่ โดยมียอดผู้เข้าชมมากกว่า 480,000 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม คลิปดังกล่าวไม่ได้แสดงภาพสึนามิที่เกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหวในวันปีใหม่ 2567

วิดีโอสึนามิปี 2554 

การค้นหาภาพย้อนหลังในกูเกิลโดยใช้คีย์เฟรมของวิดีโอ AFP พบวิดีโอที่ตรงกันถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าว Associated Press ทางยูทูปเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 (ลิงก์บันทึก)

ชื่อของวิดีโอแปลเป็นภาษาไทยว่า "ภาพเหตุการณ์จริง: สึนามิถล่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น" ขณะที่คำอธิบายด้านล่างระบุว่า "สึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่พัดอาคารต่างๆ เข้าแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น (11 มีนาคม)"

ภาพจากวิดีโอที่ปรากฏในโพสต์เท็จตรงกับภาพในสารคดีของสำนักข่าว NHK ของประเทศญี่ปุ่นความยาว 48 นาที ซึ่งมีชื่อเรื่องว่า "3/11 - สึนามิ: 3 วันแรก" (ลิงก์บันทึก)

สารคดีเรื่องดังกล่าวออกอากาศในเดือนมกราคม 2564 ในโอกาสครบรอบ 10 ปีเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายราว 18,500 ราย และเกิดหายนะทางนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

คลิปที่ปรากฏในโพสต์เท็จตรงกันกับคลิปในช่วงวินาทีที่ 17:07 ในสารคดี ซึ่งระบุว่าบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ได้เมื่อเวลา 15:54 น. ของวันที่ 11 มีนาคม 2554 และเผยแพร่ออกอากาศโดยสำนักข่าว NHK 

ต่อมาในช่วงที่ 18:07 ของวิดีโอ มีผู้บรรยายเหตุการณ์เป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเขียนบทเป็นภาษาอังกฤษที่ด้านล่างของวิดีโอ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า "คลื่นสึนามิซัดถล่มบ้านเรือน อาคารต่างๆ เสียหาย คลื่นยังซัดเข้าทุ่งนาด้วย จะเห็นรถยนต์และบ้าน คลื่นสีดำกลืนกินบ้านเรือนและพื้นที่เพาะปลูก ใกล้ปากแม่น้ำนาโตริ…"

แม่น้ำนาโตริตั้งอยู่ใกล้กับเมืองเซนได จังหวัดมิยากิ ซึ่งอยู่ในแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ติ๊กตอกที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และสารคดีของ NHK (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ติ๊กตอกที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และสารคดีของ NHK (ขวา)
Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ติ๊กตอกที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และสารคดีของ NHK (ขวา)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งล่าสุดในญี่ปุ่น โดยเผยแพร่เป็นรายงานภาษาไทยที่นี่  นี่ และ นี่ และภาษาอังกฤษที่นี่  นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา