
นี่คือวิดีโอนักร่มร่อนชาวปากีสถานในปี 2567 ไม่ใช่นักบินกองทัพอากาศอินเดีย
- เผยแพร่ วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 เวลา 09:32
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Akshita KUMARI, AFP อินเดีย
- แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE , AFP Thailand
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"นักบินสาวชาวอินเดีย โดดร่มชูชีพลงในดินแดนปากีสถาน ระหว่างสงคราม #สงครามอินเดียปากีสถาน" โพสต์เฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2568
โพสต์ดังกล่าวแชร์วิดีโอที่แสดงภาพผู้คนวิ่งเข้าหานักร่มร่อนที่กำลังลงสู่พื้นดิน โดยวิดีโอนี้ถูกแชร์หลังอินเดียและปากีสถานบรรลุข้อตกลงหยุดยิง หลังการสู้รบต่อเนื่องเป็นเวลา 4 วัน (ลิงก์บันทึก)
ทั้งสองประเทศได้โจมตีตอบโต้กันด้วยขีปนาวุธ โดรน และเครื่องบินรบ หลังจากอินเดียเปิดฉากโจมตีเป้าหมายบริเวณแนวชายแดนร่วมโดยอ้างว่าเป็น "โครงสร้างพื้นฐานของผู้ก่อการร้าย" ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 70 รายจากทั้งสองฝ่าย
อินเดียกล่าวหาว่าปากีสถานให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธที่อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีนักท่องเที่ยวในแคชเมียร์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 26 คน แต่ปากีสถานปฏิเสธข้อกล่าวหานี้

โพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเดียวกันนี้ปรากฏในโพสต์ภาษาไทยที่นี่ และ นี่ และโพสต์ภาษาอังกฤษที่นี่ และ นี่
อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ปี 2567 ก่อนเกิดความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศ
นักร่มร่อนปากีสถาน
การค้นหาภาพย้อนหลังบนกูเกิลโดยใช้คีย์เฟรมในวิดีโอ พบคลิปเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่บนอินสตาแกรมเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 (ลิงก์บันทึก)
คำบรรยายในโพสต์อินสตาแกรมระบุว่า "ลงจอดที่โลเวอร์ ดีร์ เคพีเค" พร้อมติดแฮชแท็ก "#บินร่มร่อน"
โลเวอร์ ดีร์เป็นอำเภอแห่งหนึ่งในจังหวัดไคเบอร์ ปัคตุนควา ประเทศปากีสถาน

ผู้ถ่ายวิดีโอดังกล่าวชื่อ ชาร์จีล คัททัก โดยเขาได้เผยแพร่อีกคลิปทางอินสตาแกรมเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2568 เพื่อชี้แจงว่าเขาเป็นนักร่มร่อนชาวปากีสถาน และวิดีโอของเขาถูกนำไปเผยแพร่ต่อในบริบทที่เป็นเท็จ (ลิงก์บันทึก)
"คลิปการลงจอดร่มร่อนของผมที่ถ่ายไว้เมื่อหลายเดือนก่อน กำลังถูกแชร์อย่างผิด ๆ ว่าเป็นภาพนักบินอินเดียที่ถูกคนท้องถิ่นจับตัวไว้ ซึ่งนั่นไม่เป็นความจริงเลย คลิปนี้เป็นแค่การบินเล่นตามปกติ ผมปลอดภัยดี ผมเป็นคนท้องถิ่น และไม่ใช่นักบินจากอีกฝั่งของพรมแดนอย่างแน่นอน" เขาระบุในโพสต์
ชาร์จีลยังระบุต่อว่า "อย่าเผยแพร่ข้อมูลเท็จเลยครับ เรามาบินร่มร่อนกันอย่างมีสติและความรับผิดชอบกันเถอะ!"
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน สามารถอ่านรายงานภาษาไทยได้ที่นี่ นี่ และ นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา