นี่เป็นวิดีโอจากเทศกาลดนตรีในฝรั่งเศส ไม่ใช่ชาวอิสราเอลหนีการโจมตีจากอิหร่าน

แม้ว่าพลเมืองจากหลายประเทศทั่วโลกจะอพยพออกจากอิหร่านและอิสราเอล ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศ แต่คลิปวิดีโอที่ถูกแชร์อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นภาพประชาชนอิสราเอลกำลังอพยพออกนอกประเทศนั้น ที่จริงแล้ว คลิปดังกล่าวแสดงภาพผู้ร่วมงานเทศกาลดนตรีในประเทศฝรั่งเศส และไม่มีความเกี่ยวข้องกับความไม่สงบในตะวันออกกลาง

"ชาวยิวกำลังออกจากอิสราเอล" โพสต์ X เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2568

คำบรรยายเดียวกันนี้ระบุต่อว่า "การตอบสนองของอิหร่านได้ทำลายความรู้สึกปลอดภัยของพวกเขาลง พรมแดนไม่อาจหยุดยั้งความกลัวได้"

โพสต์ดังกล่าวแสดงให้เห็นผู้คนจำนวนมากเดินทางพร้อมกระเป๋าใบใหญ่ ผ่านทุ่งหญ้าและถนนลูกรัง

วิดีโอดังกล่าวถูกแชร์ในช่วงที่ชาวต่างชาติเร่งเดินทางออกจากอิหร่านและอิสราเอล หลังอิสราเอลเปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่ต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านนิวเคลียร์และการทหารของอิหร่านเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2568 ส่งผลให้อิหร่านโจมตีตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธและโดรน (ลิงก์บันทึก)

ทั้งสองฝ่ายปะทะกันอย่างรุนแรงต่อเนื่องนาน 12 วัน ก่อนจะมีข้อตกลงหยุดยิงที่สหรัฐฯ เป็นผู้เสนอ ซึ่งทำให้สงครามยุติลงชั่วคราว โดยความขัดแย้งครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 600 คนในอิหร่าน และ 28 คนในอิสราเอล (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ โดย AFP ทำเครื่องหมายกากบาทสีแดง

คลิปวิดีโอดังกล่าวและคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันนี้ยังถูกแชร์ในโพสต์เฟซบุ๊กภาษาไทย และภาษาตากาล็อก

แต่อย่างไรก็ตาม วิดีโอนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

เทศกาลดนตรีในฝรั่งเศส

การค้นหาภาพแบบย้อนหลัง โดยใช้เฟรมสำคัญของวิดีโอ พบว่าคลิปเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่ในติ๊กตอกเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2568 (ลิงก์บันทึก) พร้อมข้อความภาษาฝรั่งเศสที่ระบุว่า "จุดตั้งแคมป์ของเทศกาลเฮลเฟสต์เปิดแล้วเมื่อวาน"

เทศกาลดนตรีเฮฟวีเมทัล เฮลเฟสต์ (Hellfest) จัดขึ้นทุกปีที่เมืองกลิสซง (Clisson) ทางตะวันตกของฝรั่งเศส โดยผู้ถือบัตรสามารถเข้าพักในพื้นที่แคมป์อย่างเป็นทางการของเทศกาลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ลิงก์บันทึก)

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และโพสต์ติ๊กตอก (ขวา)

ผู้ใช้งานติ๊กตอกรายเดียวกันยังเผยแพร่วิดีโออีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเผยให้เห็นพื้นที่แคมป์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน (ลิงก์บันทึก)

การค้นหาด้วยคำสำคัญเพิ่มเติมยังพบวิดีโอที่คล้ายกันปรากฏบนช่องยูทูบของ TV Sèvre et Maine สำนักข่าวท้องถิ่นในฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน (ลิงก์บันทึก)

โดยทั้งในคลิปจากโพสต์เท็จและวิดีโอยูทูบ จะสามารถเห็นป้ายสีแดง-ดำขนาดใหญ่ได้

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอที่ปรากฏในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอยูทูบ (ขวา) โดย AFP ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นป้ายสีแดง-ดำที่สอดคล้องกัน

นอกจากนี้ บริเวณเต็นท์สีขาวที่ปรากฏในคลิปก็ตรงกับภาพถ่ายของสถานที่ตั้งแคมป์จากปี 2566 ที่ปรากฏในแผนที่กูเกิลด้วย (ลิงก์บันทึก)

Image
Screenshot comparison of the falsely shared video (left) and a 2023 Google Maps photo (right), with matching white tents highlighted by AFP

จุดตั้งแคมป์ของเทศกาลดังกล่าวปรากฎอยู่ในภาพถ่ายดาวเทียมจากกูเกิลเอิร์ธ เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายดาวเทียมจากกูเกิลเอิร์ธ แสดงให้เห็นพื้นที่ตั้งแคมป์ของเทศกาล Hellfest ในเดือนมิถุนายน 2561

อ่านรายงานอื่นของ AFP ที่ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับสงครามอิหร่าน-อิสราเอลได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา