โพสต์เท็จในประเทศไทยอ้างว่า "สิงคโปร์ไม่ขายน้ำมันให้กัมพูชา"

สิงคโปร์ไม่ได้ประกาศระงับการส่งออกน้ำมันให้กัมพูชา ขัดแย้งกับคำกล่าวอ้างที่ถูกแชร์ออนไลน์ ในช่วงที่รัฐบาลกัมพูชาประกาศระงับการนำเข้าน้ำมันจากไทย ท่ามกลางความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยโพสต์เหล่านี้ได้เผยแพร่เก่าภาพของฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และลี เซียน ลุง อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ จากการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี 2562 ในกรุงเทพมหานคร

"'ผู้นำไม่มีมารยาททางการทูต กลัวโดนอัดคลิปเสียง' สิงคโปร์ไม่ขายน้ำมันให้ พร้อมไล่ฮุนเซนกลับ" โพสต์ X เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2568

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพของฮุน เซน และ ลี เซียน ลุง พร้อมข้อความภาษาไทยที่ระบุว่า สิงคโปร์กล่าวหาผู้นำกัมพูชาว่า "ไม่มีมารยาททางการทูต"

โพสต์ดังกล่าวถูกรีโพสต์มากกว่า 12,000 ครั้ง และถูกแชร์ไม่นานหลังฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของกัมพูชา ประกาศว่าจะระงับการนำเข้าน้ำมันจากประเทศไทยทั้งหมด (ลิงก์บันทึก)

ข้อพิพาทดินแดนระหว่างทั้งสองประเทศ ปะทุขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2568 หลังการปะทะกันบริเวณชายแดน ส่งผลให้ทหารกัมพูชาหเสียชีวิตนึ่งนาย

ความขัดแย้งครั้งนี้ยังส่งผลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยด้วย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ระหว่างการรอผลการพิจารณาของศาล จากกรณีคลิปเสียงบทสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างเธอกับฮุน เซน (ลิงก์บันทึก)

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้แพทองธารถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เธอประนีประนอมกับฝั่งกัมพูชามากเกินไป และลดทอนความน่าเชื่อถือของกองทัพไทย

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ โดย AFP ทำเครื่องหมายกากบาทสีแดง

คำกล่าวอ้างเดียวกันนี้ยังปรากฏในช่องทางอื่น ๆ อย่างเฟซบุ๊กและติ๊กตอกด้วย

อย่างไรก็ตาม จนถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ยังไม่มีรายงานจากทั้งรัฐบาลสิงค์โปรหรือกัมพูชาว่ามีการประกาศระงับการส่งออกน้ำมันระหว่างกัน

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และนายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้พบกันในกรุงพนมเปญ โดยกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายยืนยันถึง "ความสัมพันธ์อันยอดเยี่ยม" ระหว่างทั้งสองประเทศ และเห็นพ้องถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วม (ลิงก์บันทึก)

แถลงการณ์ฉบับนี้ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการนำเข้า-ส่งออกทรัพยากรพลังงานแต่อย่างใด แต่ระบุว่าหว่อง "แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ล่าสุดที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา และสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายใช้การแก้ไขปัญหาอย่างสันติและสร้างสรรค์ ตามเจตนารมณ์แห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในภูมิภาคอาเซียน"

การค้นหาภาพย้อนหลังผ่านกูเกิล โดยใช้ภาพที่ปรากฏในโพสต์เท็จ พบว่าภาพต้นฉบับมาจากประชุมสุดยอดอาเซียนในกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2562 และถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์รัฐบาลกัมพูชาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 (ลิงก์บันทึก)

ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นฮุน เซน พบกับลี เซียน ลุง นอกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียน

ภาพเดียวกันนี้ยังปรากฏในเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการของฮุน เซน อีกด้วย (ลิงก์บันทึก)

ฮุน เซน ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ขณะที่ลี เซียน ลุง ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในเดือนพฤษภาคม 2567 โดยลอว์เรนซ์ หว่อง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทน (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพที่ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ของรัฐบาลกัมพูชา (ขวา)

ก่อนหน้านี้ AFP ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา สามารถอ่านรายงานภาษาไทยได้ที่นี่ และ นี่ 

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา