รูป 'ผู้ชุมนุมชุดดำ' ถูกสร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์

  • เผยแพร่ วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 เวลา 09:59
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่ง ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม จากกรณีคลิปเสียงสนทนากับสมเด็จ ฮุน เซน แต่ภาพของผู้ชุมนุมชุดดำบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่ถูกแชร์บนโลกออนไลน์มีองค์ประกอบที่ผิดปกติหลายจุดซึ่งเป็นข้อสังเกตได้ว่าเป็นภาพที่สร้างขึ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์

"สงสัยว่าเป็นม๊อบต่างด้าวหรือเปล่าตรวจสอบด่วนค่ะ มันอาจเกิดอันตรายต่อผู้บริสืทธิทที่จะทำร้ายกันเองแล้วใส่ร้ายรัฐบาลนะคะ" คำบรรยายโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2568 ระบุ

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพของชายสวมหน้ากากสีดำหลายราย พร้อมข้อความบนรูปที่ระบุว่าคนเหล่านี้คือ "นักรบศรีวิชัย" หรือการ์ดของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ "กลุ่มเสื้อเหลือง" ที่เคยเคลื่อนไหวขับไล่ตระกูลชินวัตรในช่วงปี 2548-2552

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพวันที่ 30 มิถุนายน 2568 โดย AFP ทำเครื่องหมายกากบาทสีแดงบนภาพ

โพสต์ลักษณะเดียวกันถูกแชร์บนเฟซบุ๊กและติ๊กตอก หลังผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อเหลืองรวมตัวกันบริเวณทำเนียบรัฐบาลเพื่อขับไล่นายกฯ แพทองธาร (ลิงก์บันทึก)

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 นายกฯ แพทองธาร ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีระหว่างการรอผลการพิจารณาของศาล จากกรณีคลิปเสียงบทสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างเธอกับฮุน เซน (ลิงก์บันทึก)

โดยในคลิปเสียงนายกฯ แพทองธาร เรียกสมเด็จฮุน เซน ว่า "อังเคิล" หรือคุณลุง พร้อมกล่าวว่าแม่ทัพภาคที่ 2 เป็น "ฝั่งตรงข้าม"

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาตึงเครียดขึ้นอีกครั้งหลังการปะทะกันในพื้นที่ทับซ้อนบริเวณช่องบกในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเหตุให้นายทหารชาวกัมพูชาเสียชีวิตหนึ่งนาย

อย่างไรก็ตาม AFP ตรวจสอบพบว่าภาพดังกล่าวมีความผิดปกติหลายจุดที่ทำให้ระบุได้ว่าเป็นภาพที่สร้างจากเครื่องมือเอไอ

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แชร์ภาพของกลุ่มชายสวมชุดดำบริเวณด้านหน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิซึ่งสามารถมองเห็นเส้นทางเดินไฟฟ้าได้ในด้านหลัง

แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับภาพจากแผนที่กูเกิลพบว่าสถานที่จริงมีอาคารสูงและเส้นแบ่งช่องจราจรบนถนนรอบอนุสาวรีย์ฯ ซึ่งไม่ปรากฏบนภาพเอไอ (ลิงก์บันทึก

Image
การเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของภาพเอไอ (ซ้าย) และภาพบนแผนที่กูเกิล (ขวา) โดย AFP ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบภาพที่ไม่สอดคล้องกัน

นอกจากนี้ ยังพบองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติอื่น ๆ เช่น ผู้คนที่ไม่มีดวงตาและมีใบหน้าบิดเบี้ยว นิ้วโป้งของชายในภาพหายไปบริเวณขอบกางเกง โลโก้บนธงและเสื้อที่ไม่สอดคล้องกัน รวมถึงเงาที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุ

การสังเกตองค์ประกอบภาพถือเป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากรูปที่สร้างจากเอไอยังมีข้อผิดพลาดแม้จะมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดก็ตาม 

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของรูปเอไอโดย AFP ทำเครื่องหมายเน้นองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติ

การค้นหาภาพย้อนหลังบนกูเกิลพบภาพคล้ายกันในโพสต์เฟซบุ๊กที่ถูกแชร์ก่อนหน้าในวันที่ 25 มิถุนายน 2568 เพื่อนัดรวมตัวชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี (ลิงก์บันทึก

การตรวจสอบภาพด้วยเครื่องมือไฮฟ์ โมเดอเรชัน (Hive Moderation) พบว่ามีความเป็นไปได้ร้อยละ 99.5 ที่ภาพนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยเอไอ 

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของผลการตรวจสอบภาพด้วยเครื่องมือไฮฟ์ โมเดอเรชัน บันทึกภาพเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568

อ่านรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชาได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา