โพสต์เท็จอ้างว่าประธานาธิบดีฝรั่งเศสเข้าข้างไทยในข้อพิพาทชายแดนกับกัมพูชา

ขณะที่กรณีพิพาทชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชายังคงคุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในไทยได้แชร์ภาพของเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า เขาได้นำสนธิสัญญามอบสิทธิ์เหนือดินแดนและปราสาทโบราณในพื้นที่พิพาทให้กับฝ่ายไทย อย่างไรก็ตาม แม้มาครงจะเสนอความช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการว่าทั้งไทยและกัมพูชาบรรลุตกลงเกี่ยวกับสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าว

โพสต์ติ๊กตอกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2568 แชร์ภาพพร้อมข้อความที่ระบุว่า "ฝรั่งเศสนำสนธิสัญยาให้ไทย เป็นไปได้สูงที่เขมรต้องคืนเขาพระวิหารและที่ต่าง ๆ 13/6/25" 

ภาพดังกล่าวเผยให้เห็นประธานาธิบดีมาครงกำลังถือแฟ้มสีน้ำเงิน โดยข้อความอ้างถึงเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานโบราณอายุราว 900 ปี ตั้งอยู่บนแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเคยเป็นจุดปะทะระหว่างสองประเทศ 

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ได้ตัดสินในปี 2556 ว่า พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารนั้นเป็นของกัมพูชา (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ติ๊กตอกที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ โดย AFP ทำเครื่องหมายกากบาทสีแดง

ภาพเดียวกันนี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันในติ๊กตอกและยูทูบ 

คำกล่าวอ้างนี้เริ่มแพร่กระจายท่ามกลางข้อพิพาทชายแดนที่ยืดเยื้อ ซึ่งปะทุขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2568 หลังเกิดเหตุปะทะข้ามพรมแดน ทำให้ทหารกัมพูชาหนึ่งนายเสียชีวิต

กัมพูชายืนยันว่าจะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาลโลก ขณะที่ฝ่ายไทยระบุว่าไม่ยอมรับอำนาจศาลในประเด็นนี้ และต้องการแก้ไขปัญหาผ่านช่องทางทวิภาคีที่มีอยู่ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

รายงานของขแมร์ไทมส์ระบุว่า ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน มาครงเสนอที่จะเป็นคนกลางในการเจรจาข้อพิพาทชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งเคยตกเป็นอาณานิคมและเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส (ลิงก์บันทึก)

ขณะเดียวกัน สถานีโทรทัศน์ NBT World รายงานว่า มาครงได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในเวลาต่อมา โดยแพทองธารได้ย้ำถึงจุดยืนของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาอย่างสันติผ่านการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่าย (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

แต่จนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 ยังไม่มีรายงานใดที่ระบุว่า มาครงได้มอบสนธิสัญญาหรือเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์เหนือปราสาทพระวิหารหรือพื้นที่โดยรอบให้แก่ประเทศไทย

ภาพที่ไม่เกี่ยวข้อง

การค้นหาภาพย้อนหลังด้วยกูเกิล พบว่าภาพของมาครงดังกล่าวปรากฏอยู่ในโพสต์เฟซบุ๊กของหน่วยงานรัฐบาลกัมพูชาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2568 (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

คำบรรยายของโพสต์ดังกล่าวระบุว่าเป็นภาพของมาครงและสมเด็จฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ระหว่างพบกันที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2568

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพที่ถูกแชร์โดยหน่วยงานรัฐบาลของกัมพูชา (ขวา)

AFP ได้เผยแพร่ภาพถ่ายของมาครงที่คล้ายกันนี้ด้วย

แถลงการณ์จากรัฐบาลกัมพูชาระบุว่า ผู้นำจากกัมพูชาและฝรั่งเศสต่างยินดีกับ "ความร่วมมือทวิภาคีที่กำลังเติบโต" (ลิงก์บันทึก)

รายงาน Khmer Times ระบุว่า ผู้นำทั้งสองยังได้หารือถึงจุดยืนของกัมพูชาในการแก้ไขข้อพิพาทพรมแดนกับไทย โดยมาครงเสนอว่าจะให้ความช่วยเหลือในรูปแบบการจัดเตรียมเอกสารอ้างอิงหากจำเป็น (ลิงก์บันทึก)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา สามารถอ่านรายงานภาษาไทยได้ที่นี่  นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา