
โพสต์เท็จในไทยแชร์ข่าวตัดต่อที่อ้างว่า 'ทหารกัมพูชาเหยียบทุ่นระเบิด'
- เผยแพร่ วันที่ 18 กรกฎาคม 2568 เวลา 10:03
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชายังคงตึงเครียดจากเหตุทหารปะทะกันในเดือนพฤษภาคม 2568 ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยได้แชร์คลิปข่าวที่มีการตัดต่อข้อความ พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า เป็นภาพทหารกัมพูชาขาขาดหลังเหยียบทุ่นระเบิดที่ชายแดน อย่างไรก็ตาม คลิปต้นฉบับนั้นเป็นคลิปข่าวเก่าจากเหตุการณ์ในปี 2566 ซึ่งรายงานเกี่ยวกับหญิงไทยที่ได้รับบาดเจ็บจากกับดักระเบิดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา
"ทหารเขมรวางกับดักระเบิด สุดท้ายทหารเขมรเหยียบเอง อาการสาหัส กรรมตามทันทันตาเห็นจริง" โพสต์ X เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 เขียนคำบรรยาย
โพสต์ดังกล่าวแชร์คลิปความยาว 14 วินาที ซึ่งแสดงภาพเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบกำลังช่วยเหลือคนที่นอนอยู่บนเปล โดยมีข้อความพาดหัวข่าวตรงหน้าจอระบุว่า "ละทึก! ทหาร กัมบูชาเยียบถุ่นระเบิดตัวเอง ขาขาด"
โพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ในช่วงที่ข้อพิพาทชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชาทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากเหตุปะทะเมื่อเดือนพฤษภาคม 2568 ซึ่งส่งผลให้ทหารกัมพูชานายหนึ่งเสียชีวิต (ลิงก์บันทึก)
ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น กองทัพไทยออกคำสั่งปิดด่านข้ามแดนหลายจุด ขณะที่กัมพูชาตอบโต้ด้วยการประกาศระงับการนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากไทย (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

สื่อกัมพูชารายงานว่า ขณะที่ความขัดแย้งชายแดนร้อนระอุ กองทัพกัมพูชาได้ฝึกอบรมทหารประจำชายแดนให้มีทักษะในการตรวจหาและเก็บกู้กับระเบิด (ลิงก์บันทึก)
ปัจจุบัน กัมพูชายังมีกับดักระเบิดและอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากที่ตกค้างมาตั้งแต่ช่วงสงครามในทศวรรษ 1960
แม้กัมพูชาจะตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นประเทศปลอดทุ่นระเบิดภายในปี 2568 แต่ก็เลื่อนระยะเวลาออกอีก 5 ปี เนื่องจากขาดงบประมาณ และนอกจากนี้ก็ยังพบพื้นที่เสี่ยงทุ่นระเบิดเพิ่มตามแนวชายแดนไทยอีกด้วย (ลิงก์บันทึก)
คลิปเดียวกันนี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันในโพสต์ X และโพสต์ติ๊กตอก
อย่างไรก็ตาม คลิปในโพสต์เท็จนั้นถูกนำไปบิดเบือน ที่จริงแล้ว คลิปต้นฉบับนั้นมาจากรายงานข่าวเกี่ยวกับหญิงไทยที่ได้รับบาดเจ็บเมื่อ 2 ปีก่อน
การค้นหาภาพย้อนหลังในกูเกิล พบว่าภาพในโพสต์ตรงกับวิดีโอยูทูบของข่าวช่อง 7HD ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 (ลิงก์บันทึก)
เนื้อหาในวิดีโอนั้นสอดคล้องกับโพสต์เท็จ ณ วินาทีที่ 1.18

พาดหัวข่าวต้นฉบับระบุว่า "ระทึก เร่งช่วยคนไทยเหยียบระเบิด ขาขาด"
รายงานข่าวในประเทศไทยระบุว่า หญิงไทยวัย 46 ปี ได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบทุ่นระเบิดขณะออกหาของป่าบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยขาซ้ายของเธอถูกระเบิดจนขาด (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
นอกจากนี้ AFP ยังสังเกตว่า ข้อความหน้าจอของคลิปในโพสต์เท็จนั้นมีการสะกดผิดและใช้รูปแบบที่ไม่สอดคล้องกับการเผยแพร่ข่าวออกอากาศทางโทรทัศน์จริง ซึ่งชี้ว่ามีการตัดต่อข้อความหน้าจอโดยเจตนาเพื่อเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเหตุทหารกัมพูชาบาดเจ็บ

สำนักข่าว Khmer Times รายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากหญิงไทยจะได้รับบาดเจ็บจากทุ่นระเบิดแล้ว ทหารกัมพูชาอีกรายยังได้รับบาดเจ็บขณะพยายามเข้าช่วยเหลือหญิงไทย (ลิงก์บันทึก)
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา สามารถอ่านรายงานภาษาไทยได้ที่นี่ และ นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา