การสูดดมไอน้ำจากหม้อต้มน้ำไม่สามารถรักษาการติดเชื้อโรคโควิด-19 ( Ronaldo Schemidt / AFP)

โพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ แชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีการรักษาอาการโรคโควิด-19 ด้วยการสูดดมไอน้ำจากสมุนไพรต้ม

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 22 กรกฎาคม 2021 เวลา 10:24
  • อัพเดตแล้ว วัน 22 กรกฎาคม 2021 เวลา 10:46
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังรับมือกับคลื่นการระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง คำกล่าวอ้างหนึ่งได้ถูกแชร์ในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ โดยกล่าวว่าการสูดดมไอน้ำจากสมุนไพรต้มสามารถรักษาการติดเชื้อโควิด-19 คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพยืนยันกับ AFP ว่าไม่มีหลักฐานยืนยันว่าวิธีการดังกล่าวสามารถรักษาหรือป้องกันโรคโควิด-19 และเตือนว่าการสูดดมร่วมกับผู้อื่น อาจเพิ่มโอกาสการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และทำให้เกิดการอักเสบได้

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 10 กรกฏาคม 2564 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 300,000 ครั้ง

เนื้อหาบางส่วนของโพสต์เขียนว่า: 
“วันนี้วันที่ 7 ล่ะ ที่ได้รู้ข่าวมาว่าสามีติดเชื้อ ขอบอกว่าสามีดีขึ้นตามลำดับนะค่ะ และขอแชร์วิธีการดูแล คนติดเชื้อ แนะนำ เพื่อไม่ให้เชื้อลงปอด...”

“ต้มขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกูด ลูกมะกูด กระชาย หอมแดง ใส่เยอาะๆๆ หน่อยทุกๆ อย่างนำมาทุบ ให้ใด้กลิ่นออกมามากๆ ใส่ในหม้อหุ้งข้าว”

“ค่อยๆ เปิดฝาหม้อ อ้าปากกว้างๆ สูดทางปากให้สุดลมหายใจ ให้ไอร้อนเข้าทางปากปล่อยลมหายใจออกทางจมูก สูดลมหายใจทางจมูกออกทางปาก ทำอย่างนี้ต่อเหนื่อง จนไอร้อนหมด วันล่ะ 3-4 ครั้ง”

“เชื้อโรคมันเกาะอยู่ตรงคอ และในจมูก มันโดนความร้อนมันจะอ่อนแอ ไม่อยากใช้คำว่าเชื้อมันตาย แต่มันอ่อนแอ... มันไม่ลงปอด”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ในขณะที่ประเทศไทยกำลังรับมือกับคลื่นการระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง โดยรัฐบาลไทยได้ประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่กรุงเทพฯ และในอีก 12 จังหวัดเพื่อควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อ สำนักข่าว AFP รายงาน

เมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขของไทยรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 13,655 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 87 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 453,132 คน และยอดผู้เสียชีวิต 3,603 ราย

คำกล่าวอ้างเดียวกัน ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างนี้ ทำให้เข้าใจผิด

รศ.เภสัชกรหญิง รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายกับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2564 ว่า “ยังไม่มีหลักฐาน” ยืนยันว่าวิธีการสูดดมไอน้ำสามารถใช้รักษาโรคโควิด-19 ได้จริง

“การสูดดมไอระเหยอาจจะช่วยบรรเทาอาการและช่วยเรื่องการหมุนเวียนของโลหิต แต่ไม่มีหลักฐานว่าวิธีการดังกล่าวสามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้” เธอกล่าว

นอกจากนี้ รศ.รุ่งระวี ยังเตือนว่าวิธีการดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อหากทำด้วยกันเป็นกลุ่ม และการสูดดมไอน้ำร้อนอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เนื้อเยื่อโพรงจมูกอักเสบ

“การสูดดมไอระเหย ถ้าทำด้วยกันเป็นกลุ่ม มันจะเป็นการพ่นกระจายเชื้อแทนได้ เพราะเชื้อแพร่ผ่านละอองในอากาศ”  รศ.รุ่งระวี กล่าว “และถ้า(สูดไอ)ร้อนเกินอาจจะส่งผลให้เนื้อเยื่ออักเสบได้”

นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันกับ AFP ว่าวิธีการดังกล่าวไม่สามารถช่วยรักษาหรือว่าป้องกันโรคโควิด-19

“ถ้าเป็นการสูดดมไอน้ำก็จะช่วยแค่ให้จมูกโล่งเท่านั้นแต่ไม่ช่วยจัดการกับเชื้อโรค” เขากล่าว

บนเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ไม่มีคำแนะนำเรื่องการสูดดมไอน้ำเพื่อรักษาอาการที่เกิดจากโรคโควิด-19

สำนักข่าว AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการสูดดมไอน้ำแล้ว ที่นี่ นี่ และนี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา