คำกล่าวอ้างเท็จถูกแชร์ออนไลน์ว่าประเทศจีนไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 15 มกราคม 2021 เวลา 11:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2563
คำบรรยายเขียนว่า “คนไข้ใหม่ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจีน ไม่มีใครเสียชีวิตอีกเลย แม้กระทั้งคนป่วยอยู่บ้านก็ไม่ได้ไปหาหมอ มาดูว่าเค้าทำอย่างไร”
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่และนี่
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2564 สื่อในประเทศจีนยังคงมีรายงานผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลในหลายเมืองทั่วประเทศ
ผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลจีน
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 สำนักข่าวซินหัว สำนักข่าวทางการของประเทศจีน รายงานว่า “เจ้าหน้าที่ทางการจีนรายงานเมื่อวันพุธว่าพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 138 คน ในจำนวนนี้ 124 รายติดเชื้อในประเทศขณะที่รายที่เหลือเดินทางมาจากต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าวเมื่อวันพฤหัส”
“ในวันพุธ มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศทั้งหมด 4,465 ราย ในจำนวนนี้ 4,181 ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านหลังมีอาการดีขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอยู่ที่ 284 คน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากกลุ่มที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ”
ตัวเลขนี้ลดลงจากรายงานเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 ซึ่งระบุว่าสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานว่ามีผู้ป่วยโรคโควิด-19 รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 784 ราย ในจำนวนนี้มี 21 คนที่มีอาการสาหัส
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 รายงานว่าตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 จนถึงวันที่ 13 มกราคม 2564 ประเทศจีนมียอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมอยู่ที่ 97,933 คน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 4,801 ราย
คำกล่าวอ้างการหายใจสูดไอน้ำ
ผู้เชี่ยวชาญอธิบายเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างในการ “ฆ่า” เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ผ่านการ “หายใจสูดไอน้ำ” “กลั้วคอด้วยน้ำร้อน” หรือการดื่มชาร้อน ปราศจากหลักฐานยืนยันทางวิทยาศาสตร์และอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ AFP ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างเหล่านี้แล้วที่นี่ นี่และนี่
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทยได้เผยแพร่รายงานฉบับนี้ ซึ่งเขียนเนื้อหาบางส่วนว่า “จากที่มีการแชร์คลิปวิดีโอที่ระบุว่าให้ดื่มน้ำอุ่น น้ำร้อน และหายใจสูดไอน้ำร้อน ทำเป็นระยะเวลา 4 วัน ในวันที่ 5 เชื้อโควิด-19 ในร่างกายจะตาย ทางกรมอนามัยได้ชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง ขณะนี้ยังไม่มีงานวิชาการใดรองรับว่าการทำวิธีดังกล่าวสามารถช่วยฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้จริง”
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา