ประชาชนเข้าแถวเพื่อรอรับบัตรคิวสำหรับการตรวจเชื้อโควิด-19 หลังจากจองที่เพื่อรอรับบัตรคิวข้ามคืน ที่วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 กรกฏาคม 2564 ( AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA)

โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดชักชวนให้ใช้วิธีการรักษาโรคโควิด-19 ที่ยังไม่ได้รับการรองรับ

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 21 กรกฎาคม 2021 เวลา 06:01
  • อัพเดตแล้ว วัน 21 กรกฎาคม 2021 เวลา 06:52
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย ข้อความชุดหนึ่งได้ถูกแชร์ในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊ก พร้อมคำกล่าวที่อ้างว่า คนที่ผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก ควรจะรักษาตัวเองด้วยตนเองในบ้าน โดยใช้อาหารเสริมต่างๆ เช่น วิตามินและสังกะสี (Zinc) ระหว่างรอการส่งตัวเข้าโรงพยาบาลโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาความขาดแคลนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด วิธีการรักษาที่ถูกกล่าวอ้างในโพสต์นั้น ยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ว่าใช้รักษาโรคโควิด-19 ได้จริง ขณะที่ผู้เชียวชาญด้านสุขภาพแนะนำให้ผู้ป่วยโควิด-19 ปฏิบัติตามแนวทางการรักษาตัวของกระทรวงสาธารณสุขและแยกตัวจากผู้อื่นในครอบครัว

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 14 กรกฏาคม 2564 และได้ถูกแชร์มากกว่า 680 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำบรรยายบางส่วนของโพสต์เขียนว่า “#รักษาตัวเองอย่างไรเมื่อติดโควิดและต้องรอเตียงอยู่บ้าน

#ทานอาหารเสริมช่วยเพิ่มภูมิ
-วิตามิน ซี 1,000 มก. หลังอาหาร วันละ 3 ครั้ง
-วิตามิน ดี3: 5,000 IU (125 micrograms) หลังอาหารวันละเม็ด
- สังกะสี (Zinc picolinate, Zinc gluconate) 30-50 มก. วันละครั้ง
- NAC-long หรือ Flumucil 600 วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

-โซดามินท์ หรือ โซเดียม ไบคาร์บอเนต ช่วยให้ น้ำ และเลือดในร่างกายเป็นด่าง ลดการเกาะติดของโคโรน่าไวรัสที่ผนังเซลล์ (optimal fusion at pH 5.5, no fusion at pH 7) โซดามินท์ เม็ดละ 300 มก. ทานครั้งละ 4-6 เม็ด

#คำเตือน การรักษากับแพทย์เป็นวิธีดีที่สุด แต่หากไม่สามารถพบแพทย์ได้ คำแนะนำนี้อาจช่วยบรรเทาอาการหนักให้เป็นเบาได้”

โพสต์ดังกล่าวยังแนะนำให้ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะๆ งดอาหารแปรรูปและน้ำตาล รวมไปถึงการรับประทานฟ้าทะลายโจรวันละสามครั้ง

“#ทานฟ้าทะลายโจรเมื่อติดโควิดแล้วเท่านั้น” โพสต์ดังกล่าวเขียน

ณ วันที่ 20 กรกฏาคม 2564 ประเทศไทยรายงานว่าพบผู้ป่วยใหม่ 11,305 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 80 คน ในจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลทั้งหมด 126,765 คน 3,711 คน เป็นผู้ป่วยอาการหนัก โดยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 855 คน

เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนของสถานที่รองรับผู้ป่วย รวมไปถึงวัคซีน สำนักข่าว Associated Press รายงาน เมื่อวันที่ 2 กรกฏาคม 2564

ในวันที่ 10 กรกฏาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยรักษาตัวที่บ้านภายใต้นโยบายการ “แยกกักตัวที่บ้าน”

คำกล่าวอ้างเดียวกัน ถูกโพสต์ลงเฟซุบ๊กที่นี่ นี่และนี่

ถึงแม้ว่าคำแนะนำบางอย่างในโพสต์มีส่วนถูกต้อง เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอและการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่คำกล่าวอ้างเรื่องวิธีการรักษาโดยใช้ยาหรือวิตามิน ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคโควิด-19

คำแนะนำเรื่องการดูแลตัวเอง

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพได้เน้นย้ำมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ เรื่องความสำคัญของการรับประทานอาหารให้ครบหมู่และพักผ่อนให้เพียงพอ

มูลนิธิการนอนหลับแห่งชาติ ในประเทศสหรัฐอเมริการะบุบนเว็บไซต์ว่าผู้ใหญ่ควรนอนระหว่าง 7 ถึง 9 ชั่วโมง ต่อวัน

ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDC) ของสหรัฐฯ แนะนำให้รับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไขมันต่ำ และอาหารที่มีโปรตีน

CDC กล่าวว่าบุคคลที่มีน้ำหนักเกิน จะมีความเสี่ยงอาการป่วยขั้นรุนแรงจากโรคโควิด-19

ฟ้าทะลายโจร

ข้อมูลจาก WebMD เว็บไซต์ด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกาอธิบายว่า “ฟ้าทะลายโจร” เป็นสมุนไพรที่พบอยู่ในทวีปเอเชียที่สามารถนำมาใช้เป็นยาเพื่อป้องกันและรักษาไข้หวัดทั่วไปได้

กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้อนุมัติการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มี “อาการรุนแรงน้อย” โดยให้ใช้ควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในไทยกล่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรสามารถใช้ “ป้องกัน”การติดเชื้อโควิด-19

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรไปแล้วที่นี่

วิตามิน ซี ดี และสังกะสี

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา กล่าวเกี่ยวกับวิตามิน ซี ว่าเป็นสารอาหารที่จำเป็นในการทำให้เซลล์แข็งแรง แต่ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะแนะนำให้ใช้เพื่อการป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19

ขณะที่ข้อมูล “วิธีการรักษาโรคโควิด-19” บนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเขียนว่า ยังไม่มีหลักฐานว่าวิตามิน ซี สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้ นอกจากนี้ข้อมูลบนเว็บไซต์ยังมีการเตือนเรื่องการรับประทานวิตามิน ซี มากเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้มีอาการ “คลื่นไส้ ตะคริว และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดนิ่วในไต”

เช่นเดียวกับวิตามิน ซี ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงพอที่สามารถสรุปได้ว่าวิตามิน ดี สามารถใช้ป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19 โดยการทดลองทางคลินิกยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ

สำนักข่าว AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับวิตามิน ดี และแสงอาทิตย์ไปแล้วที่นี่และนี่

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวเช่นกันว่า ยังไม่หลักฐานที่จะแนะนำให้ใช้ซิงค์เพื่อป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19 พร้อมเตือนว่าการรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างดังกล่าวไปแล้วที่นี่

NAC-long และโซดามินต์

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนเรื่องการใช้ NAC-long และโซดามินต์ เพื่อรักษาโควิด-19 ที่บ้าน

N-Acetyl Cysteine หรือ NAC มาจากกรดอะมิโน L-cysteine ซึ่งใช้ในการรักษาอาการที่เกิดจากโรคทางเดินหายใจ จากข้อมูลของราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันกับ AFP ว่าคำกล่าวอ้างที่ระบุว่า NAC-long และโซดามินต์สามารถใช้รักษาโควิด-19 เป็นคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด

นพ.ธีระ กล่าวว่า “ทางการแพทย์ NAC เอาไว้ใช้สำหรับผู้ที่ติดเชื้อทางเดินหายใจ ในกรณีถ้ามีเสมหะข้นเหนียว ให้ใช้ร่วมกับการดื่มน้ำเพื่อละลายเสมหะ คนที่มีอาการดังกล่าวเท่านั้นที่ควรใช้ยาดังกล่าว ไม่ใช่ให้ทุกคนใช้ ถ้าทำแบบนั้นอาจจะเป็นการกินยาไม่เหมาะสมพร่ำเพรื่อ”

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “ไม่มีหลักฐาน” เรื่องการใช้โซดามินต์หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต เพื่อรักษาเชื้อไวรัสโคโรน่า

“ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ไม่ควรใช้โซดามินต์เพื่อรักษาโควิด-19 ข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่ควรเชื่อหรือแชร์คำแนะนำดังกล่าว”

“ผู้ป่วยโรคโควิด-19 แต่ละคนจะมีอาการที่ต่างกัน บางคนไม่มีอาการใดๆ การให้คำแนะนำกว้างๆ แบบนี้มีโอกาสที่ใช้ยาผิิด วิธีการที่ดีที่สุดระหว่างรอการรักษาตัวที่โรงพยาบาลคือการทำตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และแยกตัวจากสมาชิกคนอื่นในครอบครัว และใส่หน้ากาก” นพ.ธีระ กล่าว

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา