ภาพถ่าย “น้ำกระท่อมกระป๋อง” เป็นภาพตัดต่อ
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 9 กันยายน 2021 เวลา 08:09
- อัพเดตแล้ว วันที่ 9 กันยายน 2021 เวลา 08:32
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพถ่ายนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “เซเว่นมีขายแล้วนะคะ น้ำท่อมกระป๋อง”
ภาพถ่ายในโพสต์แสดงกระป๋องเครื่องดื่มสีเขียว-ขาว ซึ่งมีภาพใบไม้แปะอยู่ตรงกลาง
บนกระป๋องเครื่องดื่มมีตัวอักษรภาษาไทยที่เขียนว่า “น้ำกระท่อม”
กระท่อมเป็นพืชสมุนไพรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และปาปัวนิวกินี โดยมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการเจ็บป่วยและมีฤทธิ์ยากระตุ้นระดับอ่อน แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพจะออกมาเตือนเรื่องความปลอดภัย สำนักข่าว AFP รายงาน
ในประเทศไทย พืชกระท่อมถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษภายใต้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ก่อนที่จะถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564
ภาพถ่าดังกล่าวถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่
คอมเมนต์ในโพสต์แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กบางคนเข้าใจผิดว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพจริง โดยมีคนหนี่งเขียนคอมเมนต์ว่า “กระป๋องเท่าไหร่ค่ะ”
ขณะที่อีกคนหนึ่งเขียนว่า “อย่างนี้ต้องลอง”
อย่างไรก็ตาม ภาพนี้ถูกตัดต่อ
การค้นหาภาพย้อนหลังพบภาพต้นฉบับบนเว็บไซต์พันทิป
ภาพถ่ายดังกล่าวถูกเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2558 -- เกือบหกปีก่อนประเทศไทยจะปลดพืชกระท่อมออกจากรายการยาเสพติดให้โทษ
ข้อความภาษาอังกฤษบนกระป๋องเครื่องดื่มแปลเป็นภาษาไทยว่า “ไทซัน (Taisun)” และ “เครื่องดื่มน้ำฟักขาว (White Gourd Drink)” โดยข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่บนภาพที่ถูกนำมาตัดต่อด้วย
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากเว็บไซต์พันทิป (ขวา):
การค้นหาเพิ่มด้วยคำสำคัญพบเครื่องดื่มดังกล่าว -- ซึ่งผลิตโดย Taisun บริษัทผลิตอาหารของไต้หวัน มีขายอยู่ในเว็บไซต์ออนไลน์ของประเทศไทย เช่นที่นี่ นี่และนี่
สำนักข่าว AFP ทำการค้นหาบนเว็บไซต์ 7-11 ของประเทศไทย และไม่พบสินค้าเกี่ยวกับ “น้ำกระท่อม” หรือสินค้าอื่นๆ ที่ใกล้เคียง
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา