Laszlo Kiss เจ้าของกิจการครอบครัวที่ผลิตน้ำโซดาบรรจุขวดน้ำ ภายในห้องเวิร์กชอปของบริษัท ในเมือง บูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ( AFP / ATTILA KISBENEDEK)

โพสต์ในประเทศไทยแชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับประโยชน์ด้านสุขภาพของการดื่มน้ำโซดา

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 28 มกราคม 2022 เวลา 10:42
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
หลายโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย ได้แชร์คำกล่าวอ้างเรื่องประโยชน์ของน้ำโซดาว่าสามารถรักษาอาการท้องผูก และช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ คอมเมนต์ในโพสต์แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางคนหลงเชื่อคำกล่าวอ้างดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอธิบายกับ AFP ว่าเรื่องน้ำโซดาไม่สามารถรักษาอาการต่างๆ ได้และยังไม่มีหลักฐานที่เพียงพอ

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2565

โพสต์ดังกล่าวเป็นภาพอินโฟกราฟฟิก ซึ่งเขียนว่า “น้ำโซดามีประโยชน์อย่างไร

หลานคนกังวลถึงอันตรายของน้ำอัดก๊าซ หรือน้ำอัดลมต่างๆ ในแง่ของสุขภาพ แต่สำหรับบทความนี้จะขอกล่าวถึงน้ำอัดลมที่ไม่ใส่น้ำตาล เช่นน้ำโซดา ว่าดื่มแล้วจะมีประโยชน์ต่อร่างกายยังไงบ้าง

โซดาแก้ท้องผูก: ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มที่ดื่มน้ำโซดามีอาการท้องผูกน้อยลง ระบบขับถ่ายดีขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ดื่มน้ำเปล่า

โซดาแก้ท้องอืด: สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืดจากอาหารไม่ย่อยได้ การดื่มน้ำโซดาจะช่วยให้อาหารย่อยได้ง่ายขึ้น 

โซดาเพิ่มความชุ่มชื่น: การดื่มน้ำโซดาเป็นการเติมความชุ่มชื่นให้แก่ร่างกาย สำหรับคนที่ไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า อาจดื่มน้ำโซดาสลับเพื่อเปลี่ยนบรรยกาศและสนับสนุนการดื่มน้ำให้มากขึ้น

โซเดียมที่อยู่ในน้ำโซดาจะช่วยลดปัญหาความเสี่ยงต่อโรคหัวใจอีกทั้งยังรักษาค่าความเป็นกรดและด่างของร่างกายให้อยู่ในสภาพที่สมดุลอีกด้วย”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

โพสต์ดังกล่าวระบุว่าข้อมูลชุดนี้ มาจาก Roowai เว็บไซต์ด้านสุขภาพและไลฟ์สไตล์

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ได้ถูกแชร์บนเว็บไซต์ของ Roowai และวิดีโอทางยูทูปซึ่งมียอดรับชมมากกว่า 20,000 ครั้ง

และในโพสต์ทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่

คอมเมนต์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางคนหลงเชื่อคำกล่าวอ้างดังกล่าว

มีคนหนึ่งเขียนว่า “ไม่ชอบดื่มน้ำโซดา แต่จะพยายามดื่มให้บ่อยครับ”

“ใช่เลยครับ รสชาติดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพครับ” ผู้ใช้อีกคนหนึ่งกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระบุว่าคำกล่าวอ้างนี้ ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้าง: ท้องผูก

“ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าน้ำโซดาสามารถแก้ท้องผูกได้จริง” นพ.สยาม ศิรินธรปัญญา หัวหน้างานโรคทางเดินอาหาร กลุ่มอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565

“ประโยชน์ของมันยังไม่ชัดเจน”

แม้ว่ามีงานวิจัยบางฉบับได้ประเมินประสิทธิภาพของน้ำโซดาในการรักษาอาการท้องผูก แต่ว่างานวิจัยเหล่านั้นใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก และเก่าไปแล้ว นพ.สยาม กล่าว

“ไม่ควรกินเพื่อใช้เป็นยารักษาประจำ”

งานวิจัยฉบับนี้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเนเปิลส์ ได้ตรวจสอบผลกระทบของน้ำอัดลมต่อระบบทางเดินอาหาร และพบว่าหลักฐานที่มีอยู่ยังมีความ "ขัดแย้ง" กันอยู่

เนื้อหาบางส่วนของงานวิจัยดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า “ต้องมีการศึกษาเพิ่ม โดยเฉพาะในทดลองแทรกแซง เพื่อที่จะสนับสนุนคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับผลประโยชน์ของเครื่องดื่มอัดลมต่อระบบทางเดินอาหาร และต้องชี้แจงด้วยว่ามีผลต่อการย่อยอาหารอย่างไร”

ทิพรดี คงสุวรรณ นักโภชนาการการปฏิบัติการจากสำนักโภชนาการของประเทศไทย ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเช่นกันว่างานวิจัยเกี่ยวกับโซดาและอาการท้องร่วงนั้น "ไม่มีข้อมูลยืนยัน"

“ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนคำกล่าวอ้างนี้” เธออธิบายกับ AFP เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565

ทั้งนพ.สยาม และ ทิพรดี กล่าวว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าน้ำโซดาสามารถช่วยรักษาอาการท้องอืดได้จริง

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพแนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าปกติ แทนการดื่มน้ำโซดา พร้อมเตือนว่าการดื่มน้ำโซดาในปริมาณที่มากเกิน อาจจะทำให้เกิดปัญหาหรือทำให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลงได้

“การดื่มน้ำโซดาไม่มีอันตรายอะไรทั่วไป แต่อยากให้ดื่มน้ำเปล่าเป็นหลัก” ทิพรดีกล่าว

นพ.สยาม กล่าวว่าผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพบางอย่าง ควรเลี่ยงการดื่มน้ำโซดาเพราะมีส่วนผสมของกรด

“น้ำอัดลมมีส่วนผสมของกรดสูงกว่าน้ำปกติ คนที่ป่วยโรคกระเพาะ อาการลำไส้แปรปรวน (IBS) และกรดไหลย้อน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มโซดาเนื่องจากอาจจะทำให้มีอาการแย่ลง” เขากล่าว

โรคหัวใจ

คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าน้ำโซดาช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจนั้นไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน ทิพรดีอธิบายให้กับ AFP

ทิพรดีกล่าวว่าน้ำโซดายังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ว่าจะช่วยรักษาความสมดุลของค่า pH ให้กับร่างกาย

“ร่างกายของเรามีกลไกในการรักษาความสมดุลของค่า pH ในร่างกายอยู่แล้ว น้ำโซดาไม่ได้ช่วยกลไกใดๆ ในร่างกาย” เธอกล่าว

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา