Thai women walk past a Facebook logo displayed at a shopping mall in Bangkok, Thailand on May 15, 2012 (AFP / Pornchai Kittiwongsakul)

เฟซบุ๊กยืนยัน ข้อความที่อ้างว่า กฏระเบียบใหม่สามารถนำรูปและข้อมูลของผู้ใช้ไปใช้งาน ไม่มีมูลความจริง

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09:30
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าเฟซบุ๊กมีนโยบายใหม่ในการนำข้อมูลและรูปภาพทั้งหมดของผู้ใช้ไปใช้งานได้อย่างอิสระได้ถูกแชร์ออกไปนับร้อยครั้งบนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก ในข้อความภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เฟซบุ๊กยืนยันกับ AFP ว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริง

คำกล่าวอ้างนี้ได้ถูกแชร์ผ่านเฟซบุ๊กในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่เข้าใจผิด

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่เข้าใจผิด

เนื้อหาในโพสต์เขียนว่า “อย่าลืมพรุ่งนี้เริ่มกฏ facebook ใหม่ที่พวกเขาสามารถใช้รูปภาพของคุณได้ อย่าลืมเส้นตายคือวันนี้!!! สามารถใช้ในคดีของศาลในการดำเนินคดีกับคุณได้ ทุกอย่างที่คุณเคยโพสต์กลายเป็นสาธารณะตั้งแต่วันนี้ - แม้แต่ข้อความที่ถูกลบออกแล้ว มันไม่มีราคาสำหรับการคัดลอกและวางง่ายๆปลอดภัยดีกว่าขอโทษ”

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่ และ นี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่ และ นี่

นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวอ้างภาษาอังกฤษที่ถูกแชร์ผ่านทวิตเตอร์ที่นี่ นี่ นี่ และ นี่

ข้อความที่ถูกแชร์กันเป็นจำนวนมากไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด

มนัสชื่น โกวาภิรัติ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารของบริษัท เฟซบุ๊กประจำประเทศไทยและสปป.ลาว ให้คำตอบกับสำนักข่าว AFP ทางอีเมลเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า “ฉันสามารถยืนยันได้ว่าโพสต์ไวรัลดังกล่าวไม่เป็นความจริง”

“การปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเป็นประเด็นหลักที่เฟซบุ๊กให้ความสำคัญ ผู้ใช้งานทุกคนสามารถตรวจสอบและตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของตัวเองได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือ Privacy Checkup ที่ผู้ใช้สามารถกำหนดการตั้งค่าได้ว่าใครสามารถเข้าถึงสิ่งที่พวกเขาแชร์ ข้อมูลพวกเขาถูกใช้งานยังไง รวมถึงวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยของบัญชีของพวกเขา”

ในวันที่ 28 มกราคม 2562 เฟซบุ๊กชี้แจงผ่านฟอรั่มเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างเรื่องกฏระเบียบใหม่ที่ถูกแชร์

ศูนย์ช่วยเหลือของเฟซบุ๊กกล่าวในฟอรั่มว่า “เราเสียใจที่ได้ยินถึงเหตุการณ์นี้และขอขอบคุณที่ส่งคำถามเข้ามาถึงเฟซบุ๊ก”

“ดูเหมือนกับว่าข้อความที่คุณเห็นนั้นจะเป็นข้อความหลอกหลวง”

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของหน้าเว็บฟอรั่มของเฟซบุ๊ก

Image
ถ่ายหน้าจอของหน้าเว็บฟอรั่มของเฟซบุ๊ก

Brand Buffet เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ได้รายงานที่นี่ว่าข้อความไวรัลดังกล่าวไม่เป็นความจริง

พาดหัวของรายงานเขียนว่า “เฟซบุ๊ก แจง โพสต์ไวรัล “กฏนำรูปภาพหรือข้อมูลไปใช้” ไม่เป็นความจริง ย้ำผู้ใช้สามารถตั้งค่า Privacy ได้ในระบบ”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา