เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครทดสอบเตียงในโรงพยาบาลสนามแห่งใหม่ซึ่งรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในสนามกีฬาที่ตั้งอยู่ในเขตชานเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 (AFP / Lillian Suwanrumpha)

คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการลุกจากที่นอนอย่างกระทันหันทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ถูกแชร์ในโพสต์ทางเฟซบุ๊ก

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 20 เมษายน 2021 เวลา 11:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างที่เตือนว่าการลุกขึ้นจากเตียง “อย่างกระทันหัน” มีความเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทัน ได้ถูกแชร์ในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊ก คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอธิบายกับสำนักข่าว AFP ว่าคำเตือนดังกล่าว “ไม่เป็นความจริง” สำหรับคนที่มีสุขภาพดีและไม่มีโรคประจำตัว

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 600 ครั้ง

คำบรรยายโพสต์บางส่วนเขียนว่า “มีคนจำนวนมาก กลางวันไม่เป็นอะไร แต่พอกลางคืน กลับเสียชีวิต เนื่องจากกลางคืนลุกจากที่นอนไปเข้าห้องน้ำเร็วเกินไป การลุกจากที่นอนอย่างกระทันหันทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ความดันโลหิตลดต่ำ”

“บางคนถึงกับกระดูกกะโหลกศีรษะแตก ส่วนบางคน… หัวใจมีปัญหา”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำเตือนเดียวกันถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่และนี่

คอมเมนต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊ก แสดงให้เห็นว่าคำกล่าวอ้างนี้ทำให้เกิดการเข้าใจที่ผิด

ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเขียนว่า “เป็นความรู้ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ มีประโยชน์ ควรนำไปปฎิบัติเป็นความเคยชินดีมากครับ ขออนุญาตแชร์นะครับ”

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระบุว่า คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

นพ.ชลภิวัฒน์ ตรีพงษ์ อายุรแพทย์โรคระบบประสาทและสมอง สถาบันประสาทวิทยา กระทรวงสาธารณสุข อธิบายกับสำนักข่าว AFP ว่า “โพสต์ที่แชร์เยอะๆ พูดให้เข้าใจว่าทุกคนจะเป็น”

“คนที่มีสุขภาพดีจะมีระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำหน้าที่ในการควบคุมแรงดันเลือดในระดับเพียงพอที่จะสูบฉีดเลือด” นพ.ชลภิวัฒน์อธิบายระหว่างการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564

“แต่สำหรับคนที่มีอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อย่างพาร์กินสัน เบาหวาน จะทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานไม่ได้ปกติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาได้ แต่ส่วนมากแล้ว สาเหตุของปัญหาจะมาจากอุบัติเหตุที่ล้มลงไป”

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลไทย ได้ออกมาเตือนไม่ให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แชร์โพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิดดังกล่าว

ในประเด็นนี้ หน่วยงานดังกล่าวระบุว่า “บางคนอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดเวลาเปลี่ยนท่าเร็วๆ ได้ แต่ไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นทำให้หัวใจหยุดเต้น”

“ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากร่างกายมีกลไกในการปรับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ทั้งความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อให้เราสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ แม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหว หรือเปลี่ยนท่าเร็วๆ”

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้แชร์ภาพกราฟิกของโพสต์เฟซบุ๊กพร้อมข้อความสีแดงที่เขียนว่า “ข่าวปลอม”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอกราฟิกในบทความของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา