เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใส่ชุด PPE เก็บตัวอย่างด้วยวิธีแยงจมูกด้วยสำลีพันไม้ (SWAB) จากการตรวจหาเชื้อภายในสนามกีฬาแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ภายหลังการระบาดระลอกล่าสุดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 (AFP / Mladen Antonov)

คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการสังเกตอาการของโรคโควิด-19 ภายใน 9 วัน ถูกแชร์ขณะที่ยอดผู้ป่วยในไทยเพิ่มสูงขึ้น

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 21 เมษายน 2021 เวลา 12:00
  • อัพเดตแล้ว วันที่ 27 เมษายน 2021 เวลา 17:35
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้นในประเทศไทย คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าเป็นคำแนะนำการสังเกตอาการวันต่อวันของโรคโควิด-19 ที่สรุปโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ถูกแชร์ออกไปในหลายโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ อย่างไรก็ตามโพสต์เหล่านี้ทำให้เข้าใจผิด กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าไม่ได้เผยแพร่ชุดข้อมูลดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอาการของ ผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะแตกต่างออกไปสำหรับแต่ละคน

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 และถูกแชร์ต่ออีกกว่า 8,000 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำบรรยายบางส่วนของโพสต์เขียนว่า:

“สัญญาณ Covid-19 สรุปจาก สธ 
หน้าจะช่วยกันได้บ้าง #อาการวันต่อวัน
วันที่ 1-3 1. คล้ายหวัด 2. ปวดในคอเล็กน้อย 3. ไม่มีไข้ ไม่เหนื่อย 4. กิน/ดื่มปกติ
วันที่ 4 1. เจ็บคอเล็กน้อย 2. พูดเริ่มเจ็บในคอ 3. ไข้ดูปกติ 36.5°C 4. รบกวนกับการกิน 5. ปวดหัวเล็กน้อย 6. ท้องเสียออ่อนๆ 7. รู้สึกเหมือนเมา
วันที่ 5 1. ปวดในคอ พูด_เจ็บ 2. อ่อนเพลียเล็กน้อย 3. ปรอทไข้ 36.5° -36.7°C 3. อ่อนเพลีย ปวดข้อต่อ
วันที่ 6 1. ปรอทไข้ 37 ° C+ 2. ไอแห้ง 3. ปวดคอขณะกิน/พูด 4. อ่อนเพลีย คลื่นไส้ 5. หายใจลำบากเป็นครั้งคราว 6. นิ้วรู้สึกเจ็บปวด 7. ท้องร่วง อาเจียน
วันที่ 7 1. มีไข้ 37.4° -37.8°C 2. ไอต่อเนื่อง มีเสมหะ 3. ปวดร่างกาย/ศีรษะ 4. ท้องร่วงมาก 5. อาเจียน
วันที่ 8 1. ไข้ 38°C+++ 2. หายใจลำบาก 3. ไอต่อเนื่อง 4. ปวดหัว ข้อต่อ กล้ามเนื้อ 5. ง่อยและปวดก้น
วันที่ 9 1. ไม่ดีขึ้น และแย่ลง 2. ไข้สูงมาก 3. อาการทรุดลงมาก 4. ต้องต่อสู้เพื่อหายใจ
อาการในวันที่ 9 ต้องตรวจเลือด CT Scan ทรวงอก”

โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดนี้ถูกแชร์ออนไลน์อย่างต่อเนื่องขณะที่ประเทศไทยกำลังรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ก่อนช่วงเทศกาลวันหยุดยาว สำนักข่าว AFP รายงาน

กระทรวงสาธารณสุขรายงานเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมมากกว่ากว่า 45,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 110 ราย

คำกล่าวอ้างเดียวกันถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่และนี่

อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

คำแนะนำเท็จ

นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่าทางกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลชุดนี้

“ปกติเเล้วคำแนะนำทาการเเพทย์ที่กระทรวงสาธารณุสุขออกจะไม่มีรูปเเบบนี้” นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564

การค้นหาด้วยคำสำคัญบนเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข ไม่พบคำแนะนำเรื่องอาการของโรคโควิด-19 ภายในระยะเวลา 9 วัน

อาการแต่ละคน ต่างกัน

นพ.ขจรศักดิ์ อธิบายเพิ่มว่า “อาการของโรคโควิด-19 ไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว” อย่างที่เขียนเอาไว้ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

“80% อาการของโรคโควิด-19 จะเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา เช่น มีไข้อ่อนๆ ไอ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ส่วนที่เหลือจะเป็นอาการรุนแรงขึ้น”

ข้อแนะนำทางการขององค์การอนามัยโลกเขียนว่าอาการของโรคโควิด-19 “แตกต่างออกไปสำหรับแต่ละกัน”

“โดยเฉลี่ย ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการหลังจากติดเชื้อไป 5 ถึง 6 วัน หรือในบางกรณีอาจจะใช้เวลาขึ้นถึง 14 วัน” องค์การอนามัยโลกกล่าว

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล ได้ระบุว่าคำกล่าวอ้างในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดเป็น “ข้อมูลเท็จ” ในรายงานฉบับนี้ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาการของโรคโควิด-19 ในระยะเวลา 9 วันไปแล้วที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา