คำกล่าวอ้างเท็จถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ของประเทศไทยเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 30 มีนาคม 2021 เวลา 13:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “ใครสนใจฉีดวัคซีนโควิดตอนนี้เปิดทั่วไปฟรีนะคะ 11 รพ. ใน กทม. มี รพ. บางนาด้วย ไปได้เลย อายุระหว่าง 19-59”
โพสต์ดังกล่าวยังได้ลงรายชื่อโรงพยาบาล 11 แห่งในกรุงเทพฯ ที่ประชาชนทั่วไปสามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่ ขณะที่ด้านล่างเป็นภาพถ่ายหน้าจอของข้อความดังกล่าวที่ถูกส่งต่อทางไลน์
คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ
ณ เดือนมีนาคม 2564 ประเทศไทยเริ่มต้นการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว โดยได้นำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 มากกว่า 100,000 โดส ซึ่งรวมไปถึงวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของบริษัทยาและชีวเภสัชภัณฑ์ของอังกฤษ-สวีเดนและวัคซีนซิโนแวคของประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีกำหนดเริ่มโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชากรทั้งหมดในเดือนมิถุนายน 2564 โดยมีการวางแผนฉีดวัคซีนกว่า 60 ล้านเข็มผ่านการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศ สำนักข่าว AFP รายงานที่นี่
นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่าบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงซึ่งรวมไปถึงบุคลากรที่ปฎิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงและบุคคลที่มีโรคประจำตัว -- จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเดือนมีนาคม 2564
“คุณสามารถแจ้งความจำนงได้แต่จะต้องดูความสำคัญอีกทีว่าเป็นบุคคลในกลุ่มเสี่ยงหรือมีโรคประจำตัวหรือไม่ คุณสามารถแจ้งความจำนงได้ แต่อาจยังไม่ได้ฉีด” นพ.ขจรศักดิ์ อธิบายกับสำนักข่าว AFP ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หน่วยงานของรัฐบาลภายใต้การดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวในโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์เป็น “ข้อมูลเท็จ”
โพสต์ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2564 เขียนระบุว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็น “ข่าวปลอม อย่าแชร์!”
โพสต์ดังกล่าวอ้างอิงแนวทางของสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเขียนว่า: “กลุ่มเป้าหมายแรก ได้แก่ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ป่วย “กลุ่มเป้าหมายที่สอง ได้แก่ 1.ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.โรคหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งทุกชนิด 6.โรคเบาหวาน 7.โรคอ้วน ซึ่งอยู่ในกลุ่มอายุระหว่าง 50-59 ปี 10 เดือน
“ส่วนประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในกรณีที่กล่าวมานั้น จะมีการประกาศแผนและรายละเอียดในการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อีกครั้ง”
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา