นี่เป็นภาพที่แสดงการโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมาร์ในภาคตะวันตกของประเทศในปี 2563 และการซ้อมรบในปี 2561

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 5 เมษายน 2021 เวลา 11:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายสามภาพได้ถูกแชร์นับพันครั้งในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ พร้อมคำกล่าวอ้างว่าภาพถ่ายเหล่านี้ แสดงการโจมตีทางอากาศในบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาร์ในเดือนมีนาคม 2564 ภาพถ่ายเหล่านี้ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ภายหลังจากที่กองทัพเมียนมาร์เปิดฉากโจมตีรัฐกะเหรี่ยงในเดือนมีนาคม 2564 อย่างไรก็ตามภาพถ่ายทั้งสามภาพนี้ถูกแชร์ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิด โดยภาพชุดนี้แสดงกิจกรรมการซ้อมรบในปี 2561 และการโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมาร์ในปี 2563

ภาพถ่ายชุดนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 1,200 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

กองทัพเมียนมาร์ได้ส่งเครื่องบินโจมตีเข้าไปในพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยงทางภาคตะวันออกของประเทศ เป็นเวลา 4 วันติดต่อกัน ซึ่งนับเป็นการโจมตีในพื้นที่ดังกล่าวครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงกว่า 7,000 คนต้องหนีออกจากบ้านเรือนในพื้นที่ สำนักข่าว AFP รายงานที่นี่

การโจมตีทางอากาศครั้งนี้ นับเป็นการยกระดับของสถานการณ์ความรุนแรงต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ สมาคมเพื่อการช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ในประเทศเมียนมาร์ ระบุว่า ณ วันที่ 4 เมษายน 2564 ยอดผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของกองทัพอยู่ที่ 564 คน

ภาพถ่ายเหล่านี้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันในภาษาอังกฤษทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่และนี่ และได้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างภาษาไทยที่นี่และนี่

ภาพถ่ายทั้งสามภาพนี้ ถูกแชร์ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิด

ภาพที่หนึ่ง

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลพบภาพที่หนึ่งถูกเผยแพร่ที่นี่ บนเว็บไซต์ของผู้บัญชาการกองทัพเมียนมาร์ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561

เนื้อหาบางส่วนของบทความภาษาเมียนมาร์แปลเป็นภาษาไทยว่า “การซ้อมรบร่วม (Sin Phyu Shin) ของตั๊ดมาดอ (กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ) เริ่มขึ้นแล้ว”

“เนปิดอว์ 2 กุมภาพันธ์”

ในบริบทนี้ Sin Phyu Shin คือชื่อของกิจกรรมการซ้อมรบดังกล่าว

เนปิดอว์ คือเมืองหลวงของประเทศเมียนมาร์และเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่หนึ่งในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากเว็บไซต์ของมิน อ่อง หล่าย (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่หนึ่งในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากเว็บไซต์ของมินอ่องหล่าย (ขวา)

ภาพเดียวกันได้ถูกแชร์ในบทความนี้บนเว็บไซต์ของหน่วยงาน Myanmar Peace Monitor เมื่อเดือนกันยายน 2563

ภาพที่สอง

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลพบภาพคล้ายๆ กันถูกโพสต์ลงทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563

คำบรรยายโพสต์แปลเป็นภาษาไทยว่า “หมู่บ้าน Wamakya จังหวัดพาเลตวา รัฐชีน ระเบิดของกองทัพเมียนมาร์เมื่อช่วงเย็นวันนี้ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิต 8 รายและทำให้มีผู้บาดเจ็บอีก 12 คน”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ทวิตเตอร์

ภาพถ่ายเดียวกันถูกเผยแพร่ในบทความฉบับนี้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ทางเว็บไซต์ของ Fighter Jets World เว็บไซต์สำหรับผู้ที่มีความชอบด้านเครื่องบินรบ

บทความเขียนพาดหัวว่า “รายงาน: ตายอย่างน้อย 12 หลังเครื่องบินรบเมียนมาร์เปิดฉากยิงประชาชนในรัฐชีน”

เหตุการณ์โจมตีดังกล่าวปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ของ Irrawaddy สื่อท้องถิ่นของประเทศเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563

ภาพที่สาม

ภาพที่สามปรากฎอยู่ที่นี่ ในเว็บไซต์คลังภาพออนไลน์ของสำนักข่าว AFP โดยภาพดังกล่าวถูกถ่ายเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของภาพดังกล่าวในเว็บไซต์ของ AFP

คำบรรยายภาพแปลเป็นภาษาไทยว่า “เฮลิคอปเตอร์จู่โจม Mi-35 ของกองทัพอากาศเมียนมาร์ยิงจรวดหลายลูกระหว่างการซ้อมรบร่วม ‘Sin Phyu Shin’ ใกล้กับเมืองพะสิมในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 - LYNN BO BO / POOL / AFP”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่หนึ่งในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายต้นฉบับ (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่หนึ่งในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายต้นฉบับ (ขวา)

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว AFP ได้ตรวจสอบโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดคล้ายๆ กัน เกี่ยวกับการซ้อมรบของกองทัพเมียนมาร์ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา