เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใส่อุปกรณ์ป้องกัน Face Shield ที่มีข้อความติดอยู่อยู่ด้านบน ขณะกำลังเตรียมการฉีดวัคซีนให้กับผู้คนที่พักอาศัยอยู่ในชุมชนคลองเตย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 (AFP / Lillian Suwanrumpha)

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือน การกลั้วคอด้วยยาฆ่าเชื้อไม่สามารถป้องกันโรคโควิด-19

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 6 พฤษภาคม 2021 เวลา 05:30
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คลิปวิดีโอหนึ่งซึ่งมียอดรับชมกว่าแสนครั้งทางยูทูป ได้ถูกแชร์ออกไปทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ซึ่งคลิปวิดีโอนี้แสดงแพทย์ท่านหนึ่งกำลังแนะนำว่าการใช้ยาฆ่าเชื้อในการกลั้วคอสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่าคำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

คลิปวิดีโอนี้ถูกโพสต์ลงยูทูปเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 และมียอดรับชมแล้วกว่า 139,000 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

คำบรรยายคลิปวิดีโอเขียนว่า “แพทย์แนะสร้างภูมิคุ้มกันต้านโควิด เผยกลั้วคอด้วยโพวิโดน ไอโอดีน ป้องเชื้อลงปอด:ช็อตเด็ด”

ถกไม่เถียง” เป็นรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศทางช่อง 7 ซึ่งนำเสนอการพูดคุยระหว่างบุคคลที่มีความคิดเห็นต่างกันในประเด็นสังคม

คลิปวิดีโอยูทูปดังกล่าวมีความยาวราว 5 นาที ถูกตัดมาจากรายการเต็ม โดยเป็นการสัมภาษณ์ นพ.ธรณัส กระต่ายทอง หรือ หมอเดียร์

ในช่วงนาทีที่ 0:40 หมอเดียร์กล่าวว่า “ปกติเวลาไวรัสมันเข้าทางจมูกทางปากเราเนี่ย มันก็จะไปเกาะอยู่ที่ช่องคอก่อน แล้วมันก็จะค่อยๆ เคลื่อนตัวลงมาที่หลอดลม แล้วก็ลงไปที่ปอด ที่นี่ด่านหน้าเลยที่สำคัญคือการกลั้วคอ มีงานวิจัยหลายเปเปอร์เลยที่ออกมาบอกว่าการใช้ด้วยโพวิโดน ไอโอดีน หรือถ้าบ้านเราคือ “เบตาดีน” ที่เป็นยาชนิดกลั้วคอ อันนี้ดีที่สุดแล้ว ถ้าไม่มีเบตาดีน มันมีสารตัวหนึ่งชื่อว่า โพรโพลิซ ร้านขายยามีขาย ช่วยมากๆ เลยสำหรับการที่จะไม่ให้โควิดเนี่ยจากคอลงไปสู่ปอด คนที่ยังไม่ติดครับ อันนี้เป็นตัวสำคัญเลย”

โพวิโดน ไอโอดีน เป็นยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในการผ่าตัดและการทำความสะอาดแผลที่ติดเชื้อ

สารดังกล่าวมีจำหน่ายทั่วไปภายใต้ชื่อยี่ห้อ “เบตาดีน” โดยมีทั้งผลิตภัณฑ์ในรูปแบบทา สเปรย์ และน้ำ สำหรับใช้ในการกลั้วคอเพื่อ “รักษาและบรรเทาอาการเจ็บคอ”

ข้อมูลของสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 เผยว่าตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มขึ้น ประเทศไทยพบมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมมากกว่า 71,000 ราย

คลิปวิดีโอดังกล่าวได้ถูกแชร์ออกไปทางสื่อสังคมออนไลน์ในไทย เช่นทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่ ทวิตเตอร์ที่นี่ และในบล็อกที่นี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่าไม่มีหลักฐานสนับสนุนคำแนะนำเรื่องการใช้โพวิโดน ไอโอดีนเพื่อป้องกันโควิด-19

ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าคำกล่าวอ้างนี้ “ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการพิสูจน์”

นพ.ปกรัฐ อธิบายกับ AFP เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ว่า “ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการใช้โพวิโดน ไอโอดีนจะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด ถ้ามันใช้ได้ผลจริงๆ อย่างนั้นคงจะนำมาสเปรย์ตลอดเวลาแล้วครับ”

นพ.ปกรัฐ อธิบายเพิ่มว่าโพวิโดน ไอโอดีนเป็นสารฆ่าเชื้อสำหรับการใช้ภายนอกร่างกายเท่านั้น

“คำถามสำคัญก่อนใช้อะไรก็ตามกับร่างกายเราคือต้องถามว่ามันปลอดภัยหรือเปล่า โพวิโดน ไอโอดีนเป็นสารที่จริงๆ แล้วควรเอาไว้ใช้ภายนอกเท่านั้น”

ในส่วน “โควิด-19” บนเว็บไซต์ของเบตาดีน บริษัทดังกล่าวระบุว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่ได้รับการอนุมัติเพื่อใช้ในการป้องกันหรือรักษาเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่

ข้อความบนเว็บไซต์แปลเป็นภาษาไทยว่า “ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อของเบตาดีนยังไม่ได้มีการพิสูจจน์ว่าได้ผลในการรักษาหรือป้องกันผู้ใช้จากโรคโควิด-19 รวมไปถึงไวรัสชนิดอื่นๆ”

องค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ได้มีการแนะนำให้ใช้ยาฆ่าเชื้อเพื่อกลั้วคอในการเป็นการป้องกันโรคโควิด-19

แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจะออกมาปฏิเสธคำกล่าวอ้างของเขา แต่นพ.ธรณัส “เดียร์” กระต่ายทอง อธิบายกับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ว่า “โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่จึงยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ เอกสารงานวิจัยที่ผมกล่าวถึงเป็นการวิจัยเชิงหลักฐานโดยเป็นการทดลองทั้งในหลอดทดลองและในคนจริงๆ”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา