ประชาชนนอนอาบแดดที่สวนสาธารณะมุซอนในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ขณะที่อุณหภูมิแตะระดับ 31 องศาเซลเซียส (AFP / Dimitar Dilkoff)

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพปฎิเสธคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดว่าการตากแดดสามารถช่วยป้องกันโควิด-19

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 29 เมษายน 2021 เวลา 11:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ในขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย คลิปวิดีโอหนึ่งที่มียอดรับชมกว่า 700,000 ครั้งได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กและยูทูปพร้อมคำกล่าวอ้างว่ามีวิธี “รอด” จากโรคโควิด-19 ด้วยการรับแสงแดด โพสต์ดังกล่าวอ้างว่าวิตามินดีจากแสงแดดจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเพื่อ “สู้” กับโควิด-19 คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนประสิทธิภาพของวิตามินดีในการป้องกันโรคโควิด-19 ขณะที่องค์การอนามัยโลกเตือนว่าการตากแดดมากเกินไปสามารถส่งผลเสียต่อร่างกาย

คลิปวิดีโอนี้ถูกโพสต์ลงยูทูปเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2564 และมียอดรับชมแล้วมากกว่า 700,000 ครั้ง วิดีโอนี้ถูกโพสต์โดยช่องยูทูปที่มีชื่อว่า Beat Your Limit ช่องยูทูปที่มีเนื้อหาด้านสุขภาพและไลฟ์สไตล์ และมีผู้ติดตามช่องกว่า 220,000 คน

Image
ภาพถ่ายหน้าจอคลิปวิดีโอยูทูปที่ทำให้เข้าใจผิด

คำบรรยายวิดีโอเขียนว่า “วิธีรอดจาก COVID ด้วยการ “ตากแดด” เพื่อสร้าง Vitamin D”

คลิปวิดีโอดังกล่าวมีความยาว 12 นาที โดยในช่วงวินาทีที่ 24 ผู้หญิงคนหนึ่งเริ่มโดยการนำเสนองานวิจัยที่มีชื่อว่า “The Link Between Vitamin D deficiency and Covid-19 in a large population” หรือ “ความเชื่อมโยงระหว่างการขาดวิตามินดีและโควิด-19 ในประชากรจำนวนมาก” ซึ่งเธอพูดต่อว่าผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่ถูกพบว่ามีระดับวิตามินดีในระบบเลือดต่ำ

ในช่วงเวลา 4:20 ของวิดีโอ เธอกล่าวว่าวิตามินดีจากแสงแดดมีความจำเป็นต่อระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับไวรัสได้ดีขึ้น

ท้ายสุด ในช่วงเวลา 7:08 เธออ้างว่าวิตามินดีจากแสงอาทิตย์ จะสามารถช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้ โดยเธออธิบายต่อว่าระยะเวลาที่เหมาะที่สุดในการตากแดดอยู่ระหว่าง 5 ถึง 30 นาที ขึ้นอยู่กับสีผิวและภูมิศาสตร์ของแต่ละประเทศ

ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นก่อนช่วงเทศกาลหยุดยาวในช่วงเดือนเมษายน โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ระบุว่ายอดผู้ป่วยสะสมของไทยอยู่ที่ 63,570 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 188 ราย

คลิปวิดีโอเดียวกันถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่ และทางยูทูปที่นี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพยืนยันว่ายังไม่มีหลักฐานทางวิชาการเพียงพอที่จะสรุปความสัมพันธ์ระหว่างวิตามินดีและการป้องกันโควิด-19

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอธิบายกับสำนักข่าว AFP ว่างานวิจัยที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างการขาดวิตามินดีในผู้ป่วยโควิด-19 “ศึกษาแค่ในโลกตะวันตกเท่านั้น และพวกเขามีโอกาสรับแสงแดดน้อยกว่าในประเทศเรา”

“งานวิจัยนี้ ซึ่งศึกษาในประเทศฝั่งตะวันตก เป็นเพียงแค่การสังเกตคนไข้และพบว่าผู้ที่มีปริมาณวิตามินดีต่ำ จะมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการรุนแรงมากกว่า แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะขาด (วิตามินดี) อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีงานวิจัยที่พิสูจน์ว่าการตากแดดจะช่วยป้องกันโรคโควิด-19 หรือทำให้มีอาการดีขึ้น (รุนแรงน้อยลง)”

สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวเช่นกันว่า “ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะแนะนำเรื่องการใช้วิตามันดีเพื่อป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19”

องค์การอนามัยโลกได้ออกคำเตือนพร้อมระบุว่าการรับแสงแดดในปริมาณที่มากเกินไปถือเป็นสาเหตุหลักของ “โรคมะเร็งผิวหนังที่เพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา”

“ตัวเลขผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนังที่เพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับการรับแสงแดดระหว่างการทำกิจกรรมนอกบ้าน และการรับรังสียูวีจากโคมไฟและเตียงอาบแดด การรับแสงแดดที่มากเกินไปคือสาเหตุพื้นฐานของผลค้างเคียงที่อันตรายต่อสายตาและระบบภูมิคุ้มกัน”

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ถูกอ้างอิงในคลิปวิดีโอมีชื่อว่า “ความเชื่อมโยงระหว่างการขาดวิตามินดีและโควิด-19 ในประชากรจำนวนมาก” เป็นการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการขาดวิตามินดีและการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มต่างๆ โดยแบ่งจากเชื้อชาติและเพศ

งานวิจัยนี้ยังเป็นเพียงรายงานเบื้องต้นที่ยังไม่ได้ผ่านการรับรองโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันเกี่ยวกับการใช้วิตามินดีเพื่อป้องกันโควิด-19 ไปก่อนหน้านี้แล้วที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา