เจ้าหน้าที่แพทย์ทำการตรวจหาเชื้อโดยการ swab ให้กับผู้หญิงรายหนึ่งขณะเธออุ้มเด็กที่คลินิกทดสอบเคลื่อนที่ในศูนย์เยาวชนแห่งหนึ่ง โดยทั้งคู่มาจากชุมชนบ่อนไก่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบผู้ป่วยโควิด-19 สูงที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 (AFP / Lillian Suwanrumpha)

คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการ “รักษา” ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย ถูกนำกลับมาแชร์ออนไลน์อีกครั้งขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 6 พฤษภาคม 2021 เวลา 12:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ในขณะที่ยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นในเดือนเมษายน 2564 คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าแพทย์ไทยสามารถ “รักษา” ผู้ป่วยโควิด-19 ให้หายได้ภายใน 48 ชั่วโมงด้วยการใช้ยาสองชนิด และวิธีการดังกล่าวจะช่วยลดระยะเวลาการกักตัวของผู้ป่วยลงเหลือแค่ 2 วัน ได้ถูกแชร์ในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด โพสต์ดังกล่าวตีความเนื้อหาข้อมูลรายงานข่าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คาดเคลื่อน โดยรายงานข่าวดังกล่าวระบุว่ายาของแพทย์ไทยช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วย แต่ไม่ได้เป็นการรักษาอาการติดเชื้อไวรัส ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอธิบายกับ AFP ว่าระยะเวลาการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2564

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “ด่วน: แพทย์ไทยมีความสามารถรักษาโควิดให้หายได้ในเวลา 48 ชั่วโมง ดังคลิปข้างล่างนี้ โปรดส่งต่อเพื่อญาติพี่น้องหรือประชาชนชาวไทยที่ติดโควิด-19 ได้ทราบข่าวจะได้ขอให้โรงพยาบาลรักษาตามแนวทางของหมอทั้งสองท่านนี้ หากได้ผลจริงก็ไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายกักตัว 14 วัน กล่าวคือติดเชื้อเมื่อไหร่ก็รีบรักษาเลย”

โพสต์ดังกล่าวลิงก์ไปยังรายงานข่าวฉบับนี้ ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ทางช่องยูทูปของไทยรัฐออนไลน์

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ในขณะที่รัฐบาลไทยเริ่มบังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เข้มข้นขึ้น สำนักข่าว AFP รายงาน

ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ประเทศไทย มีผู้ป่วยสะสมมากว่า 74,900 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 318 ราย

คำกล่าวอ้างเดียวกันถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ และทวิตเตอร์ที่นี่และนี่

คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

รายงานที่ถูกตีความผิด

โพสต์นี้บิดเบือนเนื้อหาในรายงานข่าวของไทยรัฐออนไลน์ ซึ่งรายงานต้นฉบับเขียนอธิบายว่าแพทย์ไทยประสบความสำเร็จในการใช้ยา 2 ชนิดรักษาอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่รายงานดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าผู้ป่วย “หาย” จากการติดเชื้อไวรัส

คำบรรยายของคลิปวิดีโอดังกล่าวเขียนว่า “หมอไทยสุดยอดเยี่ยม หลังทดลองใช้ยา 2 ชนิด ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ และยาต้านไวรัสเอดส์ มาทำการรักษา "ไวรัสโคโรน่า" พบได้ผลดีภายใน 48 ชม. คนไข้อาการดีขึ้นตามลำดับ”

สำนักข่าว AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันไปแล้วก่อนหน้านี้ที่นี่

ระยะเวลาการรักษาตัว

คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าวิธีการดังกล่าวรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ให้หายได้ภายใน 48 ชั่วโมง หรือว่าสองวัน เป็นคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายกับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ว่า “ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการผู้ป่วยโควิด-19”

นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า “ถ้าอาการไม่หนัก แค่เฝ้าดูอาการเฉยๆ ระยะเวลารักษาจะอยู่ที่ประมาณ 14 วัน”

“ถ้าคุณมีอาการ และมีโรคปอดบวมร่วมด้วย อาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 14 วัน”

“ถ้าต้องสอดท่อหรือให้ออกซิเจน อาจต้องใช้เวลาราวหนึ่งเดือนหรืออาจถึงสามเดือนในกรณีที่อาการหนักมาก”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา