แพทย์เตือนการดื่มน้ำขิงต้มไม่สามารถช่วยรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าได้
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 16 มีนาคม 2020 เวลา 08:15
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรน่าทั้งในและนอกประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่เข้าใจผิด ซึ่งถูกแชร์ออกไปกว่า 63,000 ครั้ง
โพสต์ดังกล่าวเป็นข้อความที่เขียนว่า “โปรดทราบ กินน้ำขิง ช่วยต่อต้านเชื้อไวรัสโควิด19 ช่วยกันแชร์เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์”
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ข้อความคล้ายกันได้ถูกแชร์ออกไปในโพสต์ภาษาอังกฤษทางเฟซบุ๊ก
ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่เข้าใจผิด
ภาพถ่ายขิงถูกแชร์พร้อมข้อความภาษาตากาล็อกที่เขียนว่า “วิธีการรักษาไวรัสโคโรน่า สำหรับกรณีที่คุณติดเชื้อ งดอาหารทันที 24 ชั่วโมง ต้มน้ำขิงและดื่มเหมือนดื่มน้ำ แต่ต้องดื่มร้อนๆ ดื่มน้ำขิงเป็นเวลา 3 วันอย่างต่อเนื่อง"
“วิธีการต้มขิง ต้มตามที่คุณชอบเลยเพราะกลิ่นฉุน แต่ต้มเยอะๆ ยิ่งดีเพราะไวรัสจะได้ตายเร็วขึ้น”
โพสต์เขียนต่อว่าการดื่มน้ำร้อนช่วยเพราะ “ไวรัสโคโรน่าเป็นไวรัสที่อาศัยได้เฉพาะในพื้นที่ภูมิอากาศหนาวเย็น มีโอกาสน้อยที่มันจะมีชีวิตรอดในพื้นที่อากาศร้อนได้ จำไว้ว่าไวรัสโคโรน่าทุกชนิดมีชีวิตรอดได้ในพื้นที่อากาศเย็นเท่านั้น”
ข้อความคล้ายๆ กันถูกแชร์ผ่านเฟซบุ๊กที่นี่และนี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่และนี่
คำกล่าวอ้างเหล่านี้เป็นการเข้าใจผิด ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพยืนยันว่าไม่มีหลักทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าการดื่มน้ำขิงสามารถรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสได้ ผู้ที่เริ่มแสดงอาการป่วยควรเข้าพบแพทย์โดยเร็ว แทนที่จะหาวิธีรักษาตัวเองที่บ้าน
นายแพทย์ Mark Kristoffer Pasayan จากสมาคมศึกษาจุลชีววิทยาและโรคติดต่อประเทศฟิลิปปินส์ อธิบายกับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า “สำหรับการติดเชื้อโคโรน่าไวรัสทุกกรณี ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าวิธีการนี้สามารถป้องกันหรือรักษาการติดเชื้อไวรัสได้”
“สภาพแวดล้อมที่ความชื้นและอุณหภูมิต่ำทำให้เชื้อโรคถ่ายทอดจากคนสู่คนได้ง่าย แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการรับประทานอาหารหรือดิื่มเครื่องดื่มร้อนแต่อย่างใด”
Pasayan ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างดังกล่าวว่าเป็น “รายงานเท็จ” เช่นเดียวกับอีกหลายๆ เรื่องที่ปรากฏอยู่ในช่องทางออนไลน์ รวมไปถึงการดื่มน้ำขิงต้ม
AFP ได้ทำการยืนยันข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวิธีการรักษาหรือป้องกันไวรัสโคโรน่าที่ถูกแชร์ในอินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลายเหล่านี้แล้วว่าไม่เป็นความจริง
องค์การอนามัยโลกยืนยันกับ AFP ว่าปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะตั้งสันนิษฐานว่าเชื้อไวรัสโคโรน่ามีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิของสภาพแวดล้อม
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 โฆษกขององค์การอนามัยโลกตอบคำถามของ AFP มาทางอีเมลว่า “ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปได้ว่าสภาพอากาศมีผลยังไงกับการแพร่เชื้อของไวรัสตัวนี้”
“ไวรัสตัวนี้ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนหรือว่าหนาว”
แนวทางปฏิบัติฉบับล่าสุดขององค์การอนามัยโลก ไม่ได้แนะนำเรื่องการใช้ยาหรือสมุนไพรในการป้องกันหรือว่ารักษาไวรัสโคโรน่า
ข้อความบางส่วนของรายงานเขียนว่า “หากคุณต้องการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า คุณควรต้องรักษาสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะการล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ระบบทางเดินหายใจ รับประทานอาหารที่สะอาด หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับบุคคลที่มีอาการจามและการไอ”
“หากตัวคุณเองเริ่มมีไข้หรือมีอาการไอและหายใจลำบาก ให้ไปพบแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้นและเปิดเผยประวัติการเดินทางล่าสุดกับเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์”
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 สำนักข่าว AFP รายงานว่ายอดผู้เสียชีวิตจากโรค COVID-19 ทั่วโลกสูงกว่า 6,000 คน
แม้รัฐบาลจีนได้ยืนยันว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อผ่านพ้นช่วงวิกฤตที่สุดไปแล้ว แต่องค์การอนามัยโลกเตือนว่าตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสามารถคาดการณ์ระยะการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าได้
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา