พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ซ้าย) เข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลราชวิถีและตรวจเยี่ยมผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาในกรุงเทพเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2020 (AFP / Handout)

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนอย่าเชื่อคำกล่าวอ้างเท็จจาก “แพทย์ไต้หวัน” เรื่องการใช้เข็มแทงที่ปลายนิ้วผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตกเพื่อบรรเทาอาการ

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 27 พฤษภาคม 2020 เวลา 11:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างเรื่องวิธีการรักษาอาการผู้ป่วยหลอดเลือดในสมองแตกจาก “แพทย์อาวุโสแผนโบราณของไต้หวัน” โดยการใช้เข็มแทงที่ปลายนิ้วเพื่อให้เลือดไหลออกมา ได้ถูกแชร์หลายหมื่นครั้งทางในเฟซบุ๊ก คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่านี่คือ “ข่าวปลอม” และแนะนำให้ผู้ที่มีอาการเส้นเลือดในสมองแตกเข้ารักษาอาการที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 และได้ถูกแชร์ต่ออีกมากกว่า 60,000 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำบรรยายโพสต์เขียนบางส่วนว่า “แพทย์อาวุโสแผนโบราณของไต้หวัน ได้ถ่ายทอดวิธีการช่วยชีวิตจาก โรคหลอดเลือดในสมองแตกฉับพลัน”

“เคล็ดลับการปฐมพยาบาล (ปล่อยเลือด).. ถ้าหากในบ้านมีเข็มฉีดยาอยู่ จะเป็นการดีที่สุด หากไม่มี ใช้เข็มเย็บผ้าก็ได้ แทงเข้าไปที่ปลายนิ้วมือ ทั้ง 10 ของผู้ป่วย (ไม่กำหนดจุดที่แน่นอน แค่ให้ห่างจากปลายเล็บนิ้วพอประมาณ) แทงให้มีเลือดไหลออกมา (ถ้าเลือดไม่ไหลออกมา ให้ใช้มือช่วยบีบได้) นิ้วละ 1 หยด ประมาณไม่กี่นาทีต่อมา ผู้ป่วยจะฟื้นตื่นขึ้นมา

ถ้ามีอาการปากเบี้ยว ให้ดึงหูทั้ง 2 ข้างของผู้ป่วยจนหูแดง ให้แทงที่ด้านล่างของใบหูทั้งสองข้าง ๆ ละ 2 ครั้ง (ติ่งหู) จนมีเลือดไหลออกมา เพียงไม่กี่นาทีปากก็จะกลับฟื้นคืนสภาพเดิมได้และให้รอจนกระทั่งผู้ป่วยฟื้นคืนสภาพกลับมาเป็นปกติ โดยไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่ผิดปกติแล้ว จึงค่อยนำส่งต่อไปหาแพทย์”

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ Rama Channel ระบุว่า โรคหลอดเลือดสมองแตกเป็นโรคที่มักเกิดจากความเสื่อมของหลอดเลือดที่เกิดจากช่วงอายุที่เพิ่มมากขึ้นหรือบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงหรือมีโรคประจำตัว เช่น สูบบุหรี่จัด โรคความดันสูงที่ไม่ได้รับการรักษา โรคเบาหวาน จนทำให้เส้นเลือดแตกได้ในที่สุด โรคหลอดเลือดสมองแตกจะส่งผลให้ร่างกายซีกใดซีกหนึ่งชาหรืออ่อนแรงและมีอาการปวดศีรษะขั้นรุนแรง

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

นพ. อดิชาญ เชื้อจินดา อายุรแพทย์ สาขาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ระบุว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าว “ไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน”

ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ทางโทรศัพท์ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 นพ.อดิชาญ กล่าวว่า “ไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน เพียงแค่มีอาการเช่นปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นโรคเส้นเลือดในสมองแตกเป็นนะครับ ถ้าคุณเป็นโรคอื่นก็สามารถมีอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน ทางที่ดีคือควรนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีและให้แพทย์ฉายเอ็กซ์เรย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาตามอาการ”

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เผยแพร่รายงานฉบับนี้โดยเตือนว่าการใช้เข็มจิ้มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีความเสี่ยงและอาจจะอันตรายถึงชีวิตได้

Image
ภาพถ่ายหน้าจอรายงานของ สสส.

เนื้อหาบางส่วนของรายงานเขียนว่า “สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง อ่อนแรงแขนขาครึ่งซีก เดินเซ พูดไม่ชัด เวียนและปวดศีรษะรุนแรง แนะหากพบบุคคลใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว ให้รีบไปโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว ห้ามใช้เข็มจิ้มบริเวณร่างกายผู้ป่วยเด็ดขาด เพราะอาจอันตรายถึงชีวิต”

สำนักข่าว AFP ได้ผลิตรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตกด้วยเข็มคล้ายๆ กันมาแล้วที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา