คำกล่าวอ้างเท็จถูกแชร์พร้อมคลิปวิดีโอตัดต่อจากเหตการณ์ฝูงผึ้งในประเทศนิการากัวและแก๊สรั่วในประเทศอินเดีย

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 9 มิถุนายน 2020 เวลา 12:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คลิปวิดีโอหนึ่งได้ถูกแชร์ออกไปทางเฟซบุ๊กพร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นการบันทึกเหตุการณ์การระบาดของแมลงในประเทศอินเดีย โดยมีลักษณะคล้ายกับตัวต่อและผึ้งที่มีพิษ หากถูกกัดจะเสียชีวิตทันที คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ คลิปวิดีโอดังกล่าวนำเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาตัดรวมให้อยู่ในคลิปวิดีโอเดียว โดยมีเหตุการณ์ฝูงผึ้งไล่ต่อยผู้คนในประเทศนิการากัวและประเทศสหรัฐอเมริกา และเหตุการณ์แก๊สรั่วในประเทศอินเดีย

คลิปวิดีโอนี้ได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กในวันที่ 19 พฤษภาคม 2563

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำบรรยายวิดีโอเขียนว่า
“# มหันตภัยสุด ๆ #

เป็นสัตว์ปีกแมลงชนิดหนึ่ง ตัวเล็ก ๆ หน้าตาคล้าย ๆ กับตัวต่อ และผึ้ง กำลังระบาดในประเทศอินเดีย จีน ไล่กัดคนผู้เดินทางผ่านไป - มา บนถนน และในตลาด เมือโดนกัดแล้วจะตายคาที ไม่ทันไปหาหมอ หรือโรงพยาบาล โควิตไม่ทันหาย แมลงมาอีกแล้ว
ใกล้ ๆ มาแล้วกับวันจะสิ้นโลก นี้. มาดูคลิป กันเถอะ”

วิดีโอและคำกล่าวอ้างเดียวกันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่

คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ คลิปวิดีโอที่อยู่ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดนำคลิปวิดีโอจากเหตุการณ์ต่างๆ มาตัดต่อเป็นวิดีโอความยาว 2 นาที 52 วินาที

คลิปช่วงที่หนึ่ง (0:00-0:53) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา คลิปช่วงที่สอง (0:54-1:01) เป็นเหตุการณ์แก๊สรั่วในประเทศอินเดีย คลิปช่วงที่สาม (1:02-1:19) เป็นเหตุการณ์ฝูงผึ้งไล่ต่อยผู้คนในประเทศนิการากัว ขณะที่คลิปช่วงที่สี่และห้า (1:20-2:52) เป็นเหตุการณ์แก๊สรั่วในประเทศอินเดีย

คลิปที่หนึ่ง

เมื่อนำภาพมาค้นหาย้อนหลัง พบคลิปวิดีโอเดียวกันได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2563 โดยคำบรรยายภาษาสเปนแปลเป็นภาษาไทยว่า “ฝูงผึ้งระบาด เกิดขึ้นที่ 204 และวาเลนไทน์”

“204 และ วาเลนไทน์” หมายถึงที่อยู่ของสถานที่เกิดเหตุ E 204th St dan Valentine Ave ย่านบรองซ์ นครนิวยอร์ก

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และคลิปวิดีโอต้นฉบับ (ขวา)

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และคลิปวิดีโอต้นฉบับ (ขวา)

เมื่อนำที่อยู่ดังกล่าวมาค้นหาผ่าน Google Street View จะสามารถสังเกตเห็นซุเปอร์มาร์เก็ต C-Town ที่ปรากฏอยู่ในคลิปวิดีโอ

คลิปที่สอง

การค้นหาภาพย้อนหลังผ่านกูเกิล พบคลิปวิดีโอเดียวกันถูกเผยแพร่ลงในยูทูปเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 โดยสำนักข่าว Prag News ของประเทศอินเดีย

คำบรรยายวิดีโอแปลเป็นภาษาไทยว่า “ตาย 11 ล้มป่วย 1,000 หลังเหตุการณ์แก๊สรั่วจากโรงงานสารเคมีในเมืองวิศาขาปัตตนัม โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ถูกเปรียบเทียบกับโศกนาฏกรรมโภปาล”

วิดีโอที่อยู่ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดปรากฏอยู่ในรายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์แก๊สรั่วในโรงงานสารเคมีที่ตั้งอยู่ในเมืองวิศาขาปัตตนัม รัฐอานธรประเทศ ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2563 สำนักข่าว AFP รายงานว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบจนต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลนับร้อยคนและมีผู้เสียชีวิตอีกอย่างน้อย 12 ราย

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอของ Prag News (ขวา)

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอของ Prag News (ขวา)

คลิปที่สาม

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลโดยการใช้เครื่องมือตรวจสอบดิจิตอล InVID-WeVerify พร้อมกับการค้นหาด้วยคำสำคัญพบวิดีโอต้นฉบับที่ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2563 โดยเหตุการณ์ในวิดีโอถูกบันทึกที่ห้างสรรพสินค้า Metrocentro ในกรุงมานากัว เมืองหลวงของประเทศนิการากัว

นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้ทวิตเตอร์สองคนที่ทวีตถึงเหตุการณ์ที่มีฝูงผึ้งบินต่อยผู้คนที่ห้างสรรพสินค้า Metrocentro ในวันเดียวกันที่นี่และนี่ 

แผนกดับเพลิงกลาง Z-1 ของกรุงมานากัว ซึ่งอยู่ห่างจากห้างสรรพสินค้า Metrocentro ออกไป 2.5 กิโลเมตร ได้โพสต์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้านนอกห้างสรรพสินค้าดังกล่าว

สำนักข่าว AFP ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่แผนกดับเพลิงดังกล่าว โดยได้คำตอบว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจากฝูงผึ้งแอฟริกัน “วิดีโอและภาพถ่ายตรงกับเหตุการณ์ในวันเดียวกัน (4 เมษายน) และหลังจากนั้นก็ไม่ได้มีประเด็นอะไรเกี่ยวกับศูนย์การค้า (ห้างสรรพสินค้า) นั้นเลย มีแค่เรื่องนี้เท่านั้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา”

ฉากหลังในคลิปวิดีโอช่วงนี้ ตรงกับภาพถ่ายพาโนรามาบริเวณด้านนอกห้างสรรพสินค้า Metrocentro ซึ่งปรากฏอยู่ในGoogle Maps

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายจาก Google Maps (ขวา)

Image
Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายจาก Google Maps (ขวา)

แผนกดับเพลิงได้โพสต์ภาพถ่ายผ่านเฟซบุ๊กซึ่งสามารถสังเกตเห็นชื่อของห้างสรรพสินค้า Metrocentro ในภาพถ่ายดังกล่าว

คลิปที่สี่

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลพบคลิปวิดีโอนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กโดย France TV New Delhi สถานีโทรทัศน์สาธารณะของ France TV 2 ประจำกรุงนิวเดลี

ชื่อภาษาฝรั่งเศสของวิดีโอแปลเป็นภาษาไทยว่า “อินเดีย: แก๊สรั่วจากโรงงานสารเคมี”

ข้อความช่วงแรกของคำบรรยายวิดีโอ แปลเป็นภาษาไทยว่า “ในช่วงกลางดึก เกิดเหตุแก็สรั่วที่โรงงาน LG Polymers ที่เมืองวิศาขาปัตตนัมทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 บัญชีทวิตเตอร์ของ Info France 2 ได้ทวีตวิดีโอพร้อมข้อความที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ที่ #อินเดีย เกิดเหตุแก็สรั่วที่โรงงานสารเคมีจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 รายและบาดเจ็บอีกหนึ่งพันคน”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอของ France TV New Delhi (ขวา)

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอของ France TV New Delhi (ขวา)

คลิปที่ห้า

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล โดยใช้ภาพถ่ายหน้าจอจากวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดในช่วงนาทีที่ 1:46 เป็นต้นไปพบคลิปวิดีโอนี้ถูกโพสต์ลงยูทูปโดย NR ADVERTISEMENTS โดยชื่อของวิดีโอแปลเป็นภาษาไทยว่า “แก๊สพิษรั่วจาก LG Polymers | ทำให้ตึงเครียด @Vizag | วิดีโอแก๊สรั่วที่ Vizag”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอยูทูปของ NR ADVERTISEMENTS (ขวา)

Image
Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอยูทูปของ NR ADVERTISEMENTS (ขวา)

คลิปวิดีโอเดียวได้ถูกเผยแพร่พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ประเทศอินเดีย โดยสำนักข่าว AFP ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างดังกล่าวไปแล้วที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา