
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนว่าการกินส้มตำไม่สามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 29 เมษายน 2563 เวลา 10:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
วิดีโอนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 จนมียอดรับชมแล้วมากกว่า 331,000 ครั้ง และถูกแชร์ต่ออีกมากกว่า 8,700 ครั้ง
วิดีโอความยาว 1 นาที 37 วินาทีนี้เป็นวิดีโอที่แสดง ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่าการบริโภคส้มตำสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้
ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

ช่วงเวลานาทีที่ 1.15 ในวิดีโอ ดร.พรเทพ พูดว่า “ในนี้เนี่ยเราก็จะใส่กระเทียมไปด้วย ใส่พริกไปด้วย ทั้งกระเทียมและพริกก็เป็นสารขับเสมหะ ที่จะป้องกันโควิด-19”
คำบรรยายของโพสต์เขียนว่า “กินส้มตำกันไหม ส้มตำ เมนูสู้โควิด-19 โดย ดร. นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์”
ส้มตำ เป็นอาหารจานเด็ดของประเทศไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก ที่มีต้นกำเนิดมาจากภาคอีสาน ส้มตำมาจากการนำคำสองคำมาผสมกัน “ส้ม” เป็นภาษาท้องถิ่นของคนอีสาน ที่มีความหมายว่า เปรี้ยว ขณะที่คำว่า “ตำ” มาจากการใช้สากหรือสิ่งของอื่นๆ ตำผสมกับผักผลไม้ในครกดิน
วิดีโอเดียวกันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ ทางทวิตเตอร์ที่นี่ และทางยูทูปที่นี่
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถยืนยันได้ว่าการกินส้มตำจะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ว่า “นี่เป็นคำกล่าวอ้างที่มั่ว ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าการทานส้มตำหรืออาหารอะไรก็ตามในการป้องกันหรือรักษาการติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้”
“วิธีการป้องกันการติดเชื้อที่ได้ผลที่สุดคือว่าล้างมืออย่างสม่ำเสมอ การใส่หน้ากากอนามัย และการเว้นระยะห่างทางสังคม 1 ถึง 1.5 เมตร”
ในขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกกล่าวว่าปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดที่สามารถป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19 ได้
ข้อความในส่วน Q&A ที่เว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกเขียนว่า “ณ ปัจจุบัน ไม่มีวัคซีนหรือว่ายาต้านไวรัสชนิดใดที่สามารถป้องกันหรือรักษาเชื้อโควิด-19 ได้”
“ถ้าคุณต้องการจะป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ให้รักษาความสะอาดที่มือและดูแลสุขอนามัยของระบบทานเดินหายใจ รักษาแนวปฏิบัติด้านอาหารที่ปลอดภัยและสะอาด และเว้นระยะห่างเท่าที่ทำได้กับใครก็ตามที่มีอาการของโรคทางเดินหายใจเช่นการไอหรือจาม”
รายงานประจำวันที่ 28 เมษายน 2563 ขององค์การอนามัยโลกระบุว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยโควิด-19 สูงกว่า 2,900,000 คน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตสูงกว่า 200,000 ราย
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา