
ข้อความเกี่ยวกับเนื้อสัตว์แปรรูปและการจัดกลุ่มสารก่อมะเร็งโดยองค์การอนามัยโลกถูกแชร์ออกไปพร้อมคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 8 มิถุนายน 2563 เวลา 07:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP Thailand
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างดังกล่าวได้ถูกแชร์ผ่านทางไลน์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2563

ข้อความไลน์เขียนว่า “WHO ประกาศให้ เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม ซาลามี่ เป็นสาเหตุก่อมะเร็ง กลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นอันตรายสูงสุดในระดับเดียวกันกับบุหรี่ สารหนู อะฟลาทอกซิน และ พลูโตเนี่ยม!!!!
ทุกท่านโปรดระวังนะครับ ลดปริมาณความอร่อยลงกันนะครับ
ปล.ถ้าบ้านเราก็ต้องนับ กุนเชียง หมูยอ แหนม ด้วยนะครับ
ด้วยความปรารถนาดีจากทีมแพทย์ RoyalLife.
Credit: Cancer Research UK
-World Health Organization.”
คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการจัดกลุ่มสารก่อมะเร็งขององค์การอนามัยโลก ได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่ ทางทวิตเตอร์ที่นี่และนี่ และยังมีคำกล่าวอ้างเป็นภาษาอังกฤษที่นี่และนี่
ผู้ใช้เฟซบุ๊กบางรายแสดงความคิดเห็นว่าพวกเขาเข้าใจผิดเกี่ยวกับการจัดประเภทสารก่อมะเร็งขององค์การอนามัยโลก
ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งเขียนว่า “เอาจริงๆนะคะ หากมีสารอันตรายหรือสารต้องห้าม กรมอย.ให้ผ่านกระบวนการผลิตได้อย่างไร และหากอันตรายขนาดนี้ จะยังผลิตกันทำไมอ่ะ?”
ผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายเขียนแสดงความคิดเห็นว่า “ประกาศขนาดนี้ ยกเลิกให้ขายไปเลยดีกว่า” ขณะที่อีกรายเขียนว่า “แล้วให้ขายไมวะ งง”
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) ขององค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าเนื้อสัตว์แปรรูปเป็นสารก่อมะเร็งและจัดเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่หนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับยาสูบ ไอดีเซล และแร่ใยหิน
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกเขียนอธิบายไว้ที่นี่ว่าการจัดให้เนื้อสัตว์แปรรูปอยู่ในสารก่อมะเร็งกลุ่มที่หนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าเป็นการประเมินความอันตรายหรือเปรียบเทียบความเสี่ยงของรายการนั้นๆ กับรายการอื่นในกลุ่มเดียวกัน
“เนื้อสัตว์แปรรูปได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับยาสูบและแร่ใยหิน (สารก่อมะเร็งในมนุษย์ กลุ่มที่หนึ่ง) แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกรายการในกลุ่มนี้จะมีอันตรายเท่ากัน” องค์การอนามัยโลกกล่าว “การจัดกลุ่มขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งเป็นการอธิบายถึงน้ำหนักของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าสารชนิดนี้เป็นสารก่อมะเร็ง ไม่ได้เป็นการประเมินระดับความเสี่ยงของสารก่อมะเร็งนั้นๆ”
มูลนิธิวิจัยโรคมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร (Cancer Research UK) ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานที่ถูกอ้างอิงว่าเป็นแหล่งข้อมูลของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ได้เขียนอธิบายไว้ในบล็อกว่าการจัดกลุ่มสารก่อมะเร็งโดยองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง ไม่ได้เป็นประเมินว่าเนื้อสัตว์แปรรูปสามารถ “ก่อให้เกิดมะเร็งได้มากเพียงใด”
ศาสตราจารย์ David Phillips นักวิจัยด้านมะเร็งจากวิทยาลัย King’s College London เขียนอธิบายในบล็อกว่า “องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งไม่ได้มีหน้าที่ในการบอกเราว่าหนึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการก่อมะเร็งมากน้อยแค่ไหนเพียงแต่ว่ามันก่อมะเร็งหรือไม่เท่านั้น”
ภาพกราฟฟิกในบล็อกของมูลนิธิวิจัยโรคมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักรมีข้อความเขียนอธิบายว่า “หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ว่าเนื้อสัตว์แปรรูปสามารถเป็นต้นเหตุให้เกิดมะเร็งมีน้ำหนักเทียบเท่ากับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ว่ายาสูบเป็นต้นเหตุของมะเร็ง แต่แท้จริงแล้ว ความเสี่ยงที่มาจากยาสูบนั้นสูงกว่ามาก”
ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอภาพกราฟฟิกของมูลนิธิวิจัยโรคมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร

หลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่าเนื้อสัตว์แปรรูปถูกจัดอยู่ในสารก่อมะเร็งกลุ่มที่หนึ่ง วิทยาลัยสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้เผยแพร่แถลงการณ์ฉบับนี้ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดกลุ่มสารก่อมะเร็งขององค์การอนามัยโลก
ในรายงานฉบับดังกล่าว ได้มีการอ้างอิงคำพูดของ Kana Wu สมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งและนักวิจัยวิทยาศาสตร์อาวุโสของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดย้ำว่า “องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งไม่ได้วัดระดับความเสี่ยง” ของสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง
Kana Wu กล่าวว่า “แม้ว่ายาสูบจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มดียวกับเนื้อสัตว์แปรรูป (สารก่อมะเร็งกลุ่มที่หนึ่ง) แต่ระดับความเสี่ยงโดยตรงจากยาสูบนั้นสูงกว่ามาก (การใช้ยาสูบนั้นมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดมากขึ้น 20 เท่า หรือ 2000%) ถ้าเทียบกับความเสี่ยงจากการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูป”
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา