ข้อมูลเท็จถูกแชร์ในประเทศไทยเกี่ยวกับกาฬโรคในประเทศจีน
คำกล่าวอ้างที่ระบุว่ามีการตรวจพบกาฬโรคในประเทศจีนได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กและถูกแชร์ต่ออีกนับพันครั้ง โดยระบุว่าปัจจุบันโรคนี้ยัง “ไม่มียารักษา” คำกล่าวอ้างในโพสต์ยังกล่าวต่ออีกว่าการระบาดครั้งนี้อาจจะรุนแรงกว่าเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 องค์การอนามัยโลกเผยว่าการระบาดของกาฬโรคที่เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางตอนเหนือของประเทศจีนและประเทศมองโกเลียได้รับการ “จัดการอย่างดี” พร้อมกำชับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นไม่ได้ “มีความเสี่ยงสูง” ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่ายาปฏิชีวนะสามารถรักษากาฬโรคได้
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 2,000 ครั้ง

ข้อความในโพสต์ดังกล่าวเขียนบางส่วนว่า “สงครามที่น่ากลัวที่สุด ก็เดินทางมาถึงประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว นั่นก็คือ "กาฬโรค" ตามที่เขียนทำนายเอาไว้”
กาฬโรคเมื่อได้ระบาดแล้ว โรคไวรัสอู่ฮั่นนี่ กลายเป็นเด็กๆไปเลยนะครับ เพราะปัจจุบันในโลกใบนี้ไม่มียาชนิดไหนที่สามารถรักษาเชื้อระบาดกาฬโรคในคนได้
ปีนี้ครบรอบ 300 ปีพอดี ที่เชื้อระบาดกาฬโรคที่เคยระบาดในจีน ที่ลุกลามคร่าชีวิตผู้คนไปทั่วโลกตายไปถึงสามส่วนของโลก
และจู่ๆ เชื้อโรคนี้ก็หายไปเองอย่างไร้ร่องรอย และวันนี้พวกมันก็กลับมาใหม่กันแล้ว”
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่และนี่
คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด
‘การระบาดรุนแรง’
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่ากาฬโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กและหมัดจากสัตว์เหล่านี้ การติดเชื้อจากสัตว์สู่มนุษย์เกิดได้จากการกัดของหมัดที่ติดเชื้อ การสัมผัสโดยตรงกับเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อ และการหายใจละอองเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ
ในวันที่ 7 กรกฎาคม องค์การอนามัยโลกรายงานว่าเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางตอนเหนือของประเทศจีนและจังหวัดคอฟด์ในประเทศมองโกเลียได้มีการพบการระบาดกาฬโรคและได้รับการ “จัดการอย่างดี”
สำนักข่าว AFP รายงานว่า มาร์กาเร็ต แฮร์ริส โฆษกขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า “เรากำลังติดตามตัวเลขการติดเชื้อในประเทศจีน โดยได้รับการจัดการดูแลเป็นอย่างดี ในขณะนี้เราไม่ยังประเมินว่าเป็นความเสี่ยงสูง แต่เรากำลังติดตามและตรวจสอบอย่างระมัดระวัง”
คำกล่าวอ้าง ‘ไม่มียารักษา’
โพสต์ดังกล่าวอ้างว่า “ปัจจุบันในโลกใบนี้ไม่มียาชนิดไหนที่สามารถรักษาเชื้อระบาดกาฬโรคในคนได้”
คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ หน่วยงานสุขภาพระหว่างประเทศซึ่งรวมไปถึงองค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ กล่าวว่ากาฬโรคสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
สำนักข่าว AFP ได้สอบถามเกี่ยวกับโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดทางอีเมลเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ไปยังองค์การอนามัยโลก โดย กรรภิรมย์ วิบูลย์พานิช โฆษกของขององค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้อ้างอิงไปยังข้อมูลที่อยู่บนเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก
ข้อมูลคำแนะนำในแถบ Q&A ของเว็บไซต์องค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับกาฬโรคแปลเป็นภาษาไทยบางส่วนว่า “ยาปฏิชีวนะและการบำบัดแบบประคับประคองมีประสิทธิภาพที่ดีในการรักษากาฬโรคถ้าผู้ป่วยเข้ารับการรักษาทันเวลา”

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคยืนยันว่ากาฬโรคสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
ข้อมูลบนเว็บไซต์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเขียนบางส่วนว่า “กาฬโรค” สามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการใช้ยาปฏิชีวนะ เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ เขาควรถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล และในกรณีของกาฬโรคปอดบวม ควรแยกตัวผู้ป่วยจากผู้อื่น
ภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกัน
ภาพถ่ายแรกในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดแสดงภาพถนนที่จมอยู่ใต้น้ำที่เมืองหยางซั่วทางภาคใต้ของประเทศจีน โดยเป็นภาพจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ของ AFP เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563
ภาพที่สองเป็นภาพถ่ายหน้าจอรายงานฉบับนี้ของ BBC ประเทศไทยเกี่ยวกับผู้ป่วยกาฬโรครายแรกของจีน ไฟล์ภาพดังกล่าวเป็นของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ และแสดงเชื้อแบคทีเรียกาฬโรคโดยถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์เมื่อเดือนมกราคม 2546
ภาพที่สามเป็นภาพจากเว็บไซต์ภาพสต็อก Alamy หน่วยงานถ่ายภาพของประเทศอังกฤษ
AFP ประเทศฟิลิปปินส์ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันเรื่องกาฬโรคในประเทศจีนไปแล้วที่นี่