ข้อมูลเท็จถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าการดื่มน้ำมะพร้าวแกว่งสารส้มจะสามารถช่วย “รักษา”นิ่วในไตได้
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 17 กรกฎาคม 2020 เวลา 07:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 และถูกแชร์ต่ออีกเกือบ 300 ครั้ง
คำบรรยายของโพสต์เขียนบางส่วนว่า “สูตรละลายนิ่วในไต
หรือใช้น้ำมะพร้าวอ่อน 1 แก้ว แล้วนำสารส้มก้อนเล็กเท่าปลายนิ้วมือ ลงไปแกว่งในน้ำมะพร้าว 2 ถึง 3 รอบ เสร็จแล้วนำสารส้มขึ้นมาจากแก้ว แล้วดื่มน้ำมะพร้าว ทำอย่างนี้ 5 วัน วันละ 1 ครั้ง แล้วก็หยุดกิน ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ทำกินต่อ จนกว่าจะดีขึ้น”
สารส้มหรือไฮเดรตเต็ดโพแทสเซียมอะลูมิเนียมซัลเฟต เป็นสารประกอบทางเคมีที่มีคุณสมบัติในการทำความสะอาด กระบวนการทำให้น้ำใสและใช้เป็นเป็นส่วนหนึ่งในการย้อมสี
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกแชร์ทางทวิตเตอร์ในปี 2554 ที่นี่ และทางยูทูปในปี 2562 ที่นี่ และคำกล่าวอ้างเดียวกันเพิ่งถูกนำมาโพสต์ทางเฟซบุ๊กในปี 2563 ที่นี่
อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 น.พ. ภัคพล บำรุงพืช ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลตากสิน ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าว AFP โดยกล่าวว่า “ถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยที่อ้างว่าการดื่มน้ำมะพร้าวจะสามารถช่วยป้องกันการเกิดนิ่วได้แต่อาจจะไม่สามารถคาดหวังผลการรักษานิ่วได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปริมาณและระยะเวลาที่ควรบริโภคน้ำมะพร้าวเพื่อหวังผลการรักษานิ่วนั้นยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัด และไม่สามารถรักษานิ่วได้ทุกชนิด”
“วิธีการรักษานิ่วทางการแพทย์นั้นแตกต่างกันออกไปซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทและขนาดของนิ่ว โดยประกอบไปด้วยวิธีการทานยา การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก และการผ่าตัด”
น.พ. ภัคพล แนะนำวิธีการป้องกันการก่อตัวของนิ่วในร่างกายซึ่งรวมไปถึงการดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เผยแพร่แถลงการณ์ฉบับนี้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 โดยแนะนำให้ระมัดระวังการบริโภคอะลูมิเนียมในปริมาณที่มากเกินไปเนื่องจากอาจจะส่งผลข้างเคียง ซึ่งรวมไปถึงความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ที่เพิ่มขึ้น
ข้อความในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวเขียนบางส่วนว่า “ในชีวิตประจําวันของคนทั่วไปมีโอกาสได้รับอะลูมิเนียมเข้าสู่ร่างกายหลักๆ มาจากการบริโภคอาหารและน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำบริโภคที่มีความใสจากการใช้สารส้มแกว่งให้ตกตะกอน และไม่มีการควบคุมตรวจสอบปริมาณอะลูมิเนียมในน้ําให้มีปริมาณที่ปลอดภัยต่อการบริโภค”
“หากบริโภคน้ำที่มีอะลูมิเนียมหรือสารส้มปนเปื้อนอยู่ในปริมาณที่สูงอาจทําให้เกิดอาการอาเจียน ท้องร่วง เกิดผื่นคันเป็นแผลร้อนในได้ และที่สําคัญที่สุดคือเกิดภาวะสมองเสื่อม และเป็นโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากอะลูมิเนียมเป็นโลหะที่มีประสิทธิภาพในการทําลายเนื้อเยื่อประสาท”
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา