โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดอ้างว่าประเทศไทยเป็นแชมป์โลกด้านการป้องกันโรคโควิด-19 และมียอดตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 15 พฤษภาคม 2020 เวลา 11:30
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 และได้ถูกแชร์ออกไปอีกกว่า 21,000 ครั้ง
ข้อความบางส่วนที่อยู่ในโพสต์เขียนว่า “ไทย ในกลุ่มมั่นคงสุขภาพ ๑-๑๐ โลก จากอันดับ ๖ ไต่ขึ้นอันดับ ๑ ครองมงกุฏ Covid-19 Fight เป็นแชมป์โลกด้านการป้องกันโรคระบาดเยี่ยม และมียอดผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด ณ ปัจจุบันแล้ว!”
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่และนี่
คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด
รายงานดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลกได้ถูกเผยแพร่ในเดือนตุลาคม 2562 สองเดือนก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 และได้เขียนไว้ในเว็บไซต์ว่าดัชนีดังกล่าวเป็น “การประเมินและเปรียบเทียบความมั่นคงด้านสุขภาพและขีดความสามารถที่เกี่ยวข้องของ 195 ประเทศอย่างครอบคลุมครั้งแรก”
ในรายงานฉบับนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือโรคระบาดเป็นอันดับที่ 1 ของภูมิภาคเอเชีย และอันดับที่ 6 ของโลกจากทั้งหมด 195 ประเทศ อย่างไรก็ตามดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลกเป็นการประมวลความพร้อมก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 และไม่ได้จัดอันดับประเทศในหมวดหมู่ “Covid-19 Fight” ตามที่โพสต์ที่เข้าใจผิดกล่าวอ้าง
ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอหมวดหมู่การจัดอันดับต่างๆ ของรายงานดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลก
นอกจากนี้โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ยังกล่าวว่าประเทศไทย “มียอดผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด” ซึ่งไม่เป็นความจริง
ข้อมูลเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ขององค์การอนามัยโลกระบุว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด 3,018 คน และมียอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 56 ราย
สำนักข่าว AFP ได้รับการยืนยันทางอีเมลจากเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกว่า “การกล่าวว่าประเทศไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยที่สุดในโลก นั้นไม่ถูกต้อง”
นพ. ริชาร์ด บราวน์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า “จากข้อมูลวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 3,017 คน และมียอดผู้เสียชีวิต 56 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะสังเกตได้ว่ามีตัวเลขต่ำกว่าประเทศไทย เช่นประเทศเวียดนาม ซึ่งมีผู้ป่วย 288 คนและมีผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์ ที่เมียนมาร์มีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 180 คน และมียอดผู้เสียชีวิต 6 ราย”
ตัวเลขเดียวกับปรากฏอยู่ในรายงานของมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา