ข่าวลือเก่าเกี่ยวกับการล้างผักผลไม้ด้วยน้ำเกลือถูกนำกลับมาแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ของไทย
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 19 พฤษภาคม 2020 เวลา 09:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ได้ถูกแชร์ออกไปมากกว่า 201 ครั้งตั้งแต่ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “อย่าใช้เกลือล้างผักและผลไม้”
“หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าการใช้น้ำเกลือล้างผักจะช่วยให้ผักสะอาดหมดจดได้ ความจริงแล้วเกลือเป็นโซเดียมคลอไรด์ที่มีส่วนทำให้สารตกค้างอย่างยาฆ่าแมลงนั้นคงทนยิ่งขึ้น ทำให้มันยังตกค้างอยู่ในผักและผลไม้”
“การล้าง ผักและผลไม้ที่ถูกต้องนั้นควรล้างด้วยน้ำเปล่าก่อนหนึ่งครั้ง จากนั้น นำไปแช่โดยใส่แป้งสาลีผสมลงในน้ำด้วยเล็กน้อย เพราะมันจะช่วยล้างสารพิษจากยาฆ่าแมลงออกไปได้”
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกแชร์ออกไปในเฟซบุ๊กตั้งแต่อย่างน้อยปี 2558 และเมื่อเร็วๆ นี้ที่นี่ นี่ นี่ นี่ นี่และนี่
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าคำกล่าวอ้างนี้เป็นการเข้าใจผิด
“การล้างผักด้วยเกลือไม่ได้ทำให้ยาฆ่าแมลงที่ตกค้างในผักและผลไม้คงทนยิ่งขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายกับสำนักข่าว AFP ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 “อย่างไรก็ตามผมต้องบอกว่าน่าจะได้ผลเพียง 30-40% เท่านั้นเพราะยาฆ่าแมลงส่วนใหญ่ไม่สามารถละลายในน้ำได้”
ศ.ดร.ธีรยุทธ อธิบายเพิ่มด้วยว่าการใช้น้ำยาล้างผักที่ขายตามร้านค้าเป็นวิธีทำความสะอาดผักผลไม้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
“น้ำยาล้างผักสามารถขจัดยาฆ่าแมลงที่ตกค้างในผักผลไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด” ดร. ธีรยุทธกล่าว “แต่อย่างไรก็ตามคุณต้องล้างน้ำยาล้างนี้อย่างสะอาดก่อนการบริโภค”
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์อธิบายผ่านเพจเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2557 โดยระบุว่า “น้ำเกลือสามารถนำมาใช้ล้างผักผลไม้”
โพสต์ของรศ.ดร.เจษฎาเขียนอธิบายต่อว่า “โดยมีส่วนช่วยให้ยาฆ่าแมลงหลุดออกจากผักผลไม้ง่ายขึ้นด้วยซ้ำ ยาฆ่าแมลงส่วนใหญ่นั้นจะมีองค์ประกอบเป็นน้ำมันและสารออกฤทธิ์ ซึ่งเกลือจะช่วยให้สารประกอบนี้แตกตัวออกจากกัน”
ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอโพสต์เฟซบุ๊กของรศ.ดร.เจษฎา
Voice TV ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างดังกล่าวในรายงานฉบับนี้ในเดือนธันวาคม ปี 2557
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา