การเปิดตัวของธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 (Nutthawat Wicheanbut / Bangkok Post / Bangkok Post via AFP)

คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดถูกแชร์ออนไลน์เกี่ยวกับความกังวลเรื่องกลไกความปลอดภัยของธนบัตรที่ระลึกชุดใหม่

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 18 ธันวาคม 2563 เวลา 10:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP Thailand
ภาพถ่ายธนบัตรไทยสองภาพได้ถูกแชร์เป็นหมื่นๆ ครั้งในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมและทวิตเตอร์ พร้อมคำกล่าวอ้างว่าธนบัตรชุดใหม่มูลค่า 100 บาทขาดกลไกความปลอดภัยที่เรียกว่า EURion constellation ซึ่งทำให้การลอกเลียนแบบและการผลิตธนบัตรปลอมทำได้ง่ายขึ้น คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด ธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่าธนบัตรชุดใหม่นี้ผลิตด้วยเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงที่ทันสมัย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า EURion constellation ไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการป้องกันการปลอมแปลงธนบัตร

คำกล่าวอ้างดังกล่าวถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2563 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 12,000 ครั้ง

Image

คำบรรยายในโพสต์เขียนบางส่วนว่า “ธนบัตร 100 บาท สีเหลืองอันใหม่ของไทย ไม่มี EURion constellation(ยูไรอัน) ป้องกันสแกน ป้องกันปริ้น ทางผู้ผลิตและจำหน่ายแบงค์บอกว่าเป็นธนบัตรที่ระลึก เลยไม่ได้ใส่เข้าไป”

“ธนบัตรที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับให้ชำระได้อย่างสากล ทุกใบในโลกนี้มันจะมี EURion Constellation กระจายอยู่ เป็นของตัวเองแล้วไม่ซ้ำด้วย แม้กระทั่งแบงค์ราคาต่ำที่สุดของไทยที่ 20 บาทก็มีตามรูปประกอบ”

“ธนบัตรรุ่นใหม่นี้ เอาไปแลกเป็นเงินสกุลอื่นอาจจะไม่ได้นะครับ ใช้จ่ายได้แค่ในประเทศ เพราะส่วนหนึ่งการไม่มี EURion constellation คนต่างชาติจะคิดว่านี่อาจจะเป็นแบงค์ปลอมได้”

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 

ธนบัตรที่ระลึกมูลค่า 100 บาทดังกล่าว ตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะทำให้สับสนว่าเป็นธนบัตรทั่วไปมูลค่า 1,000 บาทได้ ประชาชาติธุรกิจรายงานที่นี่

งานวิจัยเกี่ยวกับธนบัตรปี 2553 ฉบับนี้เขียนอธิบายเกี่ยวกับ EURion constellation ว่าเป็น “ลวดลายหรือสัญลักษณ์ที่พบอยู่เป็นจำนวนมากบนธนบัตรที่ออกแบบมาตั้งแต่ปี 2540 ลวดลายนี้เป็นหนึ่งในกลไกความปลอดภัยที่ถูกใช้ในธนบัตร”

คำกล่าวอ้างเดียวกันถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่ นี่และนี่ และทางอินสตาแกรมที่นี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

‘เทคโนโลยีป้องกันการปลอมแปลงที่ทันสมัย’

ธปท. อธิบายในโพสต์นี้ทางเฟซบุ๊ก โดยกล่าวว่าธนบัตรที่ระลึกชุดดังกล่าวผลิตด้วยเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงที่ทันสมัยไม่ต่างจากธนบัตรรุ่นอื่นๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอโพสต์เฟซบุ๊กของธปท.

Image

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ธปท. ได้ออกแถลงการณ์ฉบับนี้ หลังมีกระแสความกังวลในสื่อสังคมออนไลน์ว่าธนบัตรที่ระลึกชุดดังกล่าวขาดเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงธนบัตร

Image

ข้อความในส่วน “ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงและลักษณะพิเศษ” เขียนว่า “ธนบัตรที่ระลึกทั้ง 2 ชนิดราคาได้นำเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงอันทันสมัยที่ใช้อยู่ในธนบัตรแบบปัจจุบัน (แบบ 17) มาใช้ในการออกแบบ เช่น ลายน้ำที่มีความโปร่งแสงเป็นพิเศษ หมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเคลื่อนไหวได้ หมึกพิมพ์พิเศษสลับสี รวมถึงหมึกพิมพ์พิเศษที่จะเรืองแสงภายใต้รังสีเหนือม่วง เพื่อให้เทคโนโลยีผสมผสานกับการเล่าเรื่องผ่านลวดลายบนธนบัตรอย่างเหมาะสมและงดงาม”

‘ไม่จำเป็น’

Steven J. Murdoch ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมความปลอดภัย ภาควิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน กล่าวว่า EURion constellation “ไม่ถือเป็นกลไกความปลอดภัยที่จำเป็นสำหรับการป้องกันการปลอมแปลง”

“EURion constellation และ CDS (ระบบป้องกันธนบัตรปลอม) ถูกออกแบบมาเพื่อสกัดความพยายามผลิตธนบัตรปลอมของมือสมัครเล่น แต่สุดท้ายก็สามารถปลอมแปลงได้โดยไม่ยากจนเกินไป” เขาอธิบายให้กับสำนักข่าว AFP ทางอีเมลเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 “ธนบัตรทั่วๆ ไปมีกลไกอื่นที่ปลอมแปลงได้ยากกว่า EURion constellation หรือ CDS เช่นการใช้กระดาษหรือพลาสติกชนิดพิเศษในการผลิต และเทคนิคการพิมพ์ที่ยากต่อการปลอมแปลง”

Nicholas Gessler ผู้ร่วมวิจัยด้านสารสนเทศศาสตร์และการศึกษาข้อมูล ที่มหาวิทยาลัย Duke ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันได้เกษียณแล้ว กล่าวว่า “การที่ธนบัตรหนึ่งไม่มี EURion constellation ไม่ได้หมายความว่า ธนบัตรนั้นไม่มีกลไกความปลอดภัยด้านอื่นๆ”

“EURion constellation ถูกออกแบบมาเพื่อให้เครื่องถ่ายเอกสารในออฟฟิศสามารถตรวจจับได้ แต่มันไม่สามารถช่วยป้องกันการปลอมแปลงธนบัตรที่จริงจังได้” Nicholas อธิบายกับ AFP ทางอีเมลเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 “มีวิธีที่ทันสมัยและได้ผลกว่านี้อีกมากมายที่เรานำมาใช้เพื่อป้องกันการปลอมแปลงธนบัตรในปัจจุบัน บางวิธีก็ถูกเปิดเผยออกมาเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ ขณะที่วิธีอื่นๆ ยังถูกเก็บไว้เป็นความลับ การปลอมแปลงและการตรวจจับธนบัตรปลอมนั้นเปรียบเสมือนเกมส์แมวไล่จับหนู และยังคงเป็นอย่างนั้นอยู่จนถึงวันนี้”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา