คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดถูกแชร์ในประเทศไทยว่ามลพิษในอากาศจะส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 18 ธันวาคม 2020 เวลา 11:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563
คำบรรยายโพสต์ดังกล่าวเขียนบางส่วนว่า “กรุงเทพ ฯ วันนี้เป็นเมืองอันตรายในหมอกพิษผสมเชื้อไวรัส โควิด-19 งานวิจัยพบว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นพาหะของเชื้อไวรัส”
“นักวิชาการชี้ ความหนาแน่นฝุ่นละอองขนาดเล็ก ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของโรคโควิด-19 เพิ่ม ร้อยละ 8 – 16.6 ทำติดเชื้อรุนแรงขึ้น”
“ผศ.รุจิกาญจน์ นาสนิท อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายว่า พบความสัมพันธ์ของการเสียชีวิตจากโควิด-19 และฝุ่น PM 2.5 ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เนเธอแลนด์ มีอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน”
PM2.5 หมายถึง ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน องค์กรรณณงค์ด้านสิ่งแวดล้อมกรีนพีซรายงานว่า PM2.5 สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอดและกระแสเลือดโดยตรง ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อกระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง
โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ไม่นานหลังจากที่มีการตรวจวัดฝุ่น PM2.5 สูงกว่าระดับมาตรฐานใน 7 สถานีตรวจสอบคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ บางกอกโพสต์รายงานที่นี่
กรุงเทพฯ เผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง สำนักข่าว AFP รายงานที่นี่
โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดไม่ได้กล่าวชัดเจนว่า “อัตราการเสียชีวิต” นั้นหมายถึงอัตราการเสียชีวิตของจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศไทยหรืออัตราการเสียชีวิตอย่างหยาบ ซึ่งหมายถึงความเป็นไปได้ที่บุคคลหนึ่งจะเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยเป็นตัวเลขที่คำนวนจากจำนวนประชากรทั้งหมด
ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2563 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 4,261 คน และมีผู้เสียชีวิต 60 ราย ซึ่งถือเป็นอัตราการเสียชีวิตของจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ร้อยละ 1.4
ขณะเดียวกัน อัตราการเสียชีวิตอย่างหยาบของโรคโควิด-19 นั้นอยู่ที่ร้อยละ 0.9
คำกล่าวอ้างเดียวกันถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ ทางทวิตเตอร์ที่นี่ และบนเว็บไซต์ที่นี่
คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระบุว่าไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่า PM2.5 ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ผศ.ดร.รุจิกาญจน์ นาสนิท ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ทางโทรศัพท์โดยระบุว่าคำพูดของเธอ “ถูกนำไปตีความผิด”
“เป็นการเข้าใจผิดค่ะ คนได้นำคำพูดไปตีความผิด” เธอกล่าว “ความจริงแล้วฉันได้ข้อมูลชุดนั้นมาจากบทความที่เขียนโดยศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ซึ่งกล่าวถึงงานวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของของ PM2.5 และโรคโควิด-19”
“ที่จริงแล้ว ตัวเลขนี้อาจจะไม่เหมือนกันได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยในสถานที่นั้นๆ เช่น จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 มลพิษทางอากาศ และมาตรการในการควบคุมการระบาด ฯลฯ ซึ่งหมายความว่าตัวเลขในประเทศไทยก็จะต่างจากประเทศอื่นๆ”
ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต หน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าขณะนี้ยัง “ไม่มีหลักฐานทางวิชาการ” ที่จะสนับสนุนคำกล่าวอ้างในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด
นพ.ปกรัฐ ให้สัมภาษณ์ทางไลน์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 โดยระบุว่า “ไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่จะสนับสนุนข้อความที่อ้างว่า ความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดเล็กส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของโรคโควิด-19 เพิ่ม ร้อยละ 8 – 16.6 ทำติดเชื้อรุนแรงขึ้น”
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเช่นกันว่ายังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง PM2.5 และอัตราการเสียชีวิตของโรคโควิด-19
“ถึงแม้ว่า PM2.5 ทำให้มีปัญหาเรื่องปอด แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานว่ามันจะทำให้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น” เขากล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา