คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดถูกแชร์ออนไลน์ว่าการบริโภคเต้าหู้ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ที่มาจากถั่วเหลืองเยอะเกินไปทำให้เป็นโรคพาร์กินสัน
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 19 ตุลาคม 2020 เวลา 11:30
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 200 ครั้ง
คำบรรยายโพสต์เขียนบางส่วนว่า “#เหตุใดเต้าหู้จึงทำลายสมองของคุณ ผมมักจะมีประโยคนี้ในการบรรยาย “จังหวัดใดโรงเจเยอะ ทานถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเยอะ ผู้ป่วยพาร์กินสันในจังหวัดนั้นจะสูง”
“ทำไม...จึงเป็นอย่างนั้น การรับประทานอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองบางอย่างเช่นเต้าหู้อาจเพิ่มความเสี่ยงของการสูญเสียความทรงจำ”
WebMD เว็บไซต์ข่าวสุขภาพในประเทศสหรัฐอเมริกาเขียนอธิบายโรคพาร์กินสันว่า “โรคพาร์กินสันเป็นความผิดปกติของสมองที่มีผลต่อเซลล์ประสาทในสมอง อาการเริ่มต้นส่วนใหญ่เป็นอาการทางร่างกายเช่น กล้ามเนื้อแข็ง อาการสั่น และการเปลี่ยนแปลงต่อความสามารถในการพูดและการเดิน” แต่ในผู้ป่วยหลายรายก็มีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้โรคดังกล่าวพัฒนากลายไปเป็นโรคสมองเสื่อมได้เช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำ
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่
คำกล่าวอ้างนี้ยังถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. หน่วยงานของรัฐซึ่งมีเป้าหมายในการ “ริเริ่ม ผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน และร่วมกับ หน่วยงานต่างๆ ในสังคม ในการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีครบ 4 ด้าน กาย จิต ปัญญา สังคม และร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่” ในเดือนกรกฏาคม 2551
โพสต์ดังกล่าวเขียนพาดหัวว่า “นักวิจัยชี้! กินเต้าหู้มาก อาจสูญเสียความจำ กินมากกว่า 1 มื้อ เสี่ยงสมองเสื่อมถึง 20%”
อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด
รศ.ดร.ขนิษฐา ธนานุวงศ์ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร อาจารย์สาขาเคมีอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างนี้ โดยเธอระบุว่าปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าการบริโภคเต้าหู้ถั่วเหลืองจะทำให้มี “ผลเสีย” ต่อสมอง
รศ.ดร.ขนิษฐา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยกล่าวว่า “ยังมีงานวิจัยที่ขัดแย้งกันอยู่เกี่ยวกับประโยชน์ทางสุขภาพของการรับประทานถั่วเหลือง อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถกล่าวได้แน่นอนว่าการกินถั่วเหลืองจะส่งผลเสียต่อสมอง ผู้สูงอายุสามารถบริโภคต่อได้ตามปกติ โดยทั่วไปแล้วถือว่าไม่มีอะไรต้องกลัวจากการกินถั่วเหลือง”
รศ.ดร.ขนิษฐา กล่าวว่าการบริโภคอาหารเพื่อเพิ่มประโยชน์ต่อสุขภาพไม่ว่าประเภทใดก็ตาม ผู้บริโภคควรเลือกอาหารที่มีความหลากหลาย
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เผยแพร่รายงานฉบับนี้เมื่อเดือนกรกฏาคม 2563 เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน เรื่องความเสี่ยงต่อสมองจากการรับประทานอาหารที่ทำจากถั่วเหลือง โดยได้กล่าวว่าคำกล่าวอ้างนี้ “ไม่เป็นความจริง” และ “การกินเต้าหู้ถั่วเหลืองนั้นให้ประโยชน์ต่อร่างกาย”
ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอรายงานจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
รายงานดังกล่าวเขียนพาดหัวว่า “กินเต้าหู้ ถั่วเหลืองทำลายสมอง?”
“โรคพาร์กินสันจัดเป็นโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของสมอง และระบบประสาท มีผู้ได้แชร์ข้อมูลว่ากินเต้าหู้ถั่วเหลือง ทำให้เป็นโรคพาร์กินสัน ซึ่งไม่เป็นความจริง”
“ความจริงแล้วนั้นการกินเต้าหู้ถั่วเหลืองนั้นให้ประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเต้าหู้นั้นทำมาจากถั่วเหลือง แต่อย่างไรก็ตามก็ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะหากกินในปริมาณที่มากไปอาจทำให้ร่างกายได้รับฮอร์โมนเพศหญิงมากเกินความจำเป็นได้”
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา