ผู้เชี่ยวชาญระบุไม่มีหลักฐานว่ากระเทียมดำสามารถป้องกันมะเร็งได้
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 31 กรกฎาคม 2020 เวลา 11:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563
ข้อความเขียนว่า “กระเทียมดำกันมะเร็ง 6 เท่า”
รายงานฉบับนี้ของมหาวิทยาลัยมหิดลอธิบายว่ากระเทียมดำคือการกระเทียมที่ถูกนำไปอบที่อุณหภูมิ 60-90 องศาเซลเซียสเป็นระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือนจนเปลี่ยนเป็นสีเข้ม
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกแชร์ที่นี่ในปี 2555 และที่นี่ในปี 2559 และได้ถูกนำกลับมาแชร์อีกครั้งทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่ในปี 2563
คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด
ผศ.นพ. สืบพงศ์ ธนสารวิมล ภาควิชาอายุรศาสตร์ มะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ว่า “ไม่มีงานวิจัยที่แน่ชัดที่กล่าวว่าการกินกระเทียมดำจะสามารถป้องกันมะเร็งได้”
ระหว่างการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 นพ. สืบพงศ์กล่าวว่า “ผมไม่เคยได้ยินเรื่องนี้เลย ยังไม่มีงานวิจัยไหนที่ระบุอย่างชัดเจนว่าการกินอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็งได้ ปัจจุบัน เรายังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดมะเร็งได้ อย่างไรก็ตามก็มีมะเร็งบางชนิดที่เรารู้สาเหตุและวิธีป้องกัน เช่นมะเร็งปอดซึ่งเกิดจากการสูบบุหรี่ หรือมะเร็งตับที่เกิดจากการดื่มเหล้าหนัก อย่างไรก็ตามไม่มีการศึกษาที่ระบุว่าการบริโภคอาหารชนิดใดจะมีคุณสมบัติในการต้านมะเร็งได้”
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 สถาบันมะเร็งแห่งชาติของประเทศไทยได้เผยแพร่รายงานฉบับนี้บนเว็บไซต์โดยระบุว่าคำกล่าวอ้างนี้เป็น “ข่าวปลอม”
เนื้อหาบางส่วนของรายงานดังกล่าวเขียนว่า “จากการศึกษาพบว่ากระเทียมดำมีสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มฟลาโวนอยด์และโพลีฟีนอลซึ่งอาจมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตามงานวิจัยที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการหรือในสัตว์ทดลองเท่านั้น”
รายงานฉบับเดียวกันยังเตือนเรื่องการบริโภคมากเกินไปโดยข้อความในย่อหน้าที่ 3 เขียนว่า “และควรเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์กระเทียมดำที่ได้มาตรฐานเพื่อป้องกันการได้รับสารปนเปื้อนอื่น ๆ การรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์”
รายงานของสถาบันวิจัยมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริการะบุคล้ายกันว่า แม้ส่วนประกอบบางอย่างในกระเทียมดำนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ยังขาดขั้นตอนการทดลองในมนุษย์
“การวิจัยเพิ่มเติมยังจำเป็นต่อการเข้าใจบทบาทของกระเทียมในการลดความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ซึ่งอาจจะมีผลแตกต่างออกไปในปริมาณ การซึมซับ ขั้นตอนการเตรียมการ และความแตกต่างส่วนบุคคล ผลการวิจัยของสถาบันวิจัยมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาพบหลักฐานที่มีข้อจำกัด ไม่เพียงพอที่จะสามารถตั้งข้อสรุปได้”
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เผยแพร่รายงานฉบับนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 โดยระบุว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นข่าวปลอม
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา