ผู้ประกอบการร้านอาหารตักข้าวสวยใส่จานที่กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 (AFP / Adek Berry)

ผู้เชี่ยวชาญเตือนไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการอุ่นข้าวที่แช่เย็นหลังการหุงด้วยน้ำมันมะพร้าวจะช่วยลดปริมาณน้ำตาลในข้าว

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 5 สิงหาคม 2020 เวลา 07:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าการอุ่นข้าวที่แช่เย็นหลังการหุงด้วยน้ำมันมะพร้าวจะช่วยลดปริมาณน้ำตาลในข้าวลงได้ถึง 70% ได้ถูกแชร์ออกไปทางเฟซบุ๊ก โพสต์อ้างเคล็ดลับการหุงข้าวนี้จากนักวิจัยชาวศรีลังกา พร้อมกล่าวว่างานวิจัยนี้ได้ถูกตีพิมพ์ลงวารสารการแพทย์ อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและโภชนาการอธิบายว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงพอที่จะยืนยันว่าเคล็ดลับการหุงข้าวนี้ช่วยลดน้ำตาลในข้าวได้ถึง 70%

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2563

Image
Screenshot of the misleading post, taken on August 4, 2020

ข้อความบางส่วนในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดเขียนว่า “วิธีการหุงข้าวที่สามารถลดน้ำตาลได้ 70% ” หนึ่งในเคล็ดลับและเป็นหนึ่งในหลายๆวิธีที่สามารถใช้ชีวิตโดยไม่มียาเข้าในร่างกายแม้แต่เม็ดเดียว (รวมทั้งพาราเซ็ทตามอล) หนึ่งในนั้นก็คือวิธีการหุงข้าวที่ลดน้ำตาลลงไปได้ถึง 70%”

“วิธีการดังกล่าวนี้ได้มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ได้ผลเป็นที่ยอมรับและที่สำคัญ ได้ถูกตีพิมพ์ลงบนวารสารทางการแพทย์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ค้นพบคือ Sudhiar A James

วิธีการหุงข้าวเพื่อให้น้ำตาลลดลง 70% นั้นก็ง่ายแสนง่าย...เพียงแค่นำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น...ไม่ใช่ cooking oil (ยี่ห้อไหนก็ได้) ใส่ลงไปในขณะเริ่มต้นหุงข้าวเพียง 2 ช้อนชาเท่านั้น และทำการหุงเหมือนเดิมทุกอย่างจนข้าวสุก “ แต่ยังทานไม่ได้ “ ให้นำข้าวที่สุกแช่ตู้เย็นไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง (1 คืน) ก่อนที่จะนำข้าวมาทานให้ทำการอุ่นใหม่อีกรอบนึง เพียงเท่านี้ก็จะมีข้าวที่มีน้ำตาลลดลงไปจากปรกติถึง70%

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ได้ถูกแชร์ออกไปทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม ผู้เชียวชาญระบุว่าคำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

นาง วสุนธรี เสรีสุชาติ นักโภชนาการชำนาญการพิเศษ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าคำกล่าวอ้างนี้เป็นคำกล่าวที่ “เกินจริง” และยังไม่มีข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถยืนยันคำกล่าวอ้างดังกล่าวได้

นาง วสุนธรี ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ว่า “คำกล่าวอ้างนี้เป็นการกล่าวเกินจริง โดยวิจัยที่ว่านี้เป็นเพียงแค่การทดสอบในห้องทดลองเท่านั้น ปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นเมื่อเรานำข้าวที่เพิ่งหุงเสร็จไปแช่ในตู้เย็นจะทำให้ข้าวแข็งตัวและย่อยได้ยากขึ้น จึงทำให้ร่างกายเราได้รับแคลอรี่น้อยลง อย่างไรก็ตาม ถ้านำข้าวไปหุงร้อนใหม่ก็จะทำให้ข้าวมีลักษณะนิ่มและมีแคลอรี่เท่าเดิม”

รศ.ดร. ขนิษฐา ธนานุวงศ์ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร อาจารย์สาขาเคมีอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 โดยกล่าวว่า “ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปว่าการหุงข้าวด้วยวิธีนี้จะช่วยลดปริมาณน้ำตาลลง 70%”

รศ.ดร. ขนิษฐา อธิบายต่อว่า “ปกติเเล้วคนไทยมักนิยมกินข้าวที่มีอุณหภูมิร้อนจึงนำข้าวที่ใส่ไว้ในตู้เย็นมาอุ่นใหม่ ซึ่งการรับประทานข้าวร้อนจะทำให้ร่างกายย่อยข้าวเหมือนเดิม ไม่ได้ช่วยลดน้ำตาลลง”

ศูนย์ข่าวชัวร์ก่อนแชร์ ของสำนักข่าวไทย ได้ทำการตรวจสอบคำกล่าวอ้างนี้ และได้เผยแพร่วิดีโอซึ่งกล่าวว่าการ “ลดระดับน้ำตาลของข้าว” นั้นทำให้เข้าใจผิด

ช่วงวินาทีที่ 40 รศ.ดร. วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ปกติข้าวมักจะไม่ได้มีน้ำตาล แต่คนอาจจะไปโยงว่าหลังจากเรารับประทานข้าวเข้าไป ร่างกายเราจะต้องมีการย่อยเป็นโมเลกุลที่เล็กที่สุดที่ร่างกายเราจะเอาไปใช้ต่อได้ ก็คือน้ำตาล ซึ่งถ้าย่อยได้น้อยลง ก็จะทำให้ร่างกายได้น้ำตาลเข้าไปน้อยลง”

ระหว่างการประชุมประจำปี 2558 ของสมาคมเคมีแห่งชาติอเมริกัน Sudhair James ซึ่งในตอนนั้นเขายังเป็นนักศึกษาที่วิทยาลัยเคมีวิทยาศาสตร์ประเทศศรีลังกา ได้นำเสนองานวิจัยพร้อมอาจารย์ โดยงานวิจัยกล่าวว่าการหุงข้าวด้วยน้ำมันมะพร้าวและนำไปแช่เย็นจะสามารถลดแคลอรี่ได้ถึงครึ่งหนึ่ง

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา