ข่าวลวงเรื่องอันตรายของการรับประทานสารเคลือบแอปเปิ้ลถูกนำกลับมาแชร์ในประเทศไทย

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2020 เวลา 10:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คลิปวิดีโอหนึ่งได้ถูกแชร์ออกไปทางเฟซบุ๊กและไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าการกินแอปเปิ้ลโดยไม่ปอกเปลือกนั้นอันตราย เนื่องจากผลไม้ถูกเคลือบด้วยสารพาราฟิน วิดีโอพร้อมคำกล่าวอ้างนี้มียอดรับชมในเฟซบุ๊กแล้วกว่าพันครั้ง คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอธิบายกับสำนักข่าว AFP ว่าสารที่ใช้เคลือบผลไม้เป็นสารเคลือบฟู้ดเกรด และสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย

วิดีโอนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563

วิดีโอความยาว 1 นาที 8 วินาทีนี้แสดงการเทน้ำร้อนใส่ลูกแอปเปิ้ล ซึ่งทำให้สามารถสังเกตเห็นชั้นสีขาวซึ่งมาจากสารบางชนิดซึ่งสามารถลอกออกได้

Image

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “กินแอปเปิ้ล ทุกครั้งต้องปอกเปลือกออกครับ ดูนี่ครับสารที่เคลือบเรียกว่าพาราฟิน จะไปจับที่ลำไส้ อันตรายครับ”

คลิปวิดีโอและคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

รศ.ดร. ขนิษฐา ธนานุวงศ์ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายกับสำนักข่าว AFP ว่าคำกล่าวอ้างนี้ “ไม่เป็นความจริง” 

“อันนี้ไม่จริงนะคะ” เธออธิบายระหว่างการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 “สารเคลือบผลไม้ ส่วนใหญ่เป็นแบบ “ฟู้ดเกรด” สามารถทานได้ ปลอดภัย และไม่เป็นอันตรายกับร่างกาย สารเคลือบผลไม้นำมาใช้เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำจากผิวผลไม้ ทำให้ผลไม้ไม่เหี่ยวเร็วค่ะ”

ดร. ขนิษฐา อธิบายต่อว่าแม้สารเคลือบผลไม้จะสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย แต่ก็ควรล้างผลไม้ก่อนรับประทาน “แต่ควรล้างผลไม้ก่อนทาน สาเหตุไม่ได้มาจากสารเคลือบ แต่มาจากยาฆ่าแมลงที่อาจจะตกค้างอยู่บนผลไม้”

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายในโพสต์นี้ทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ว่า “ไขแว็กซ์บนผิวแอปเปิ้ล กินได้” 

“เราสามารถกินแว็กซ์พวกนี้ได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากว่า มันไม่ได้ถูกย่อยสลายและดูดซึมโดยระบบย่อยอาหารของร่างกายเรา แต่จะถูกขับถ่ายออกไปกับอุจจาระ”

เอกสารฉบับนี้ขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา เขียนอธิบายว่าแว็กซ์ที่ใช้เคลือบผักและผลไม้สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย

เนื้อหาบางส่วนของเอกสารแปลเป็นภาษาไทยว่า “ส่วนประกอบของสารเคลือบสำหรับผักและผลไม้อาจประกอบด้วยวัตถุเจือปนอาหารซึ่งเป็นสารควบคุมภายใต้ส่วนที่ 172 ซึ่งมีเงื่อนไขอนุมัติการใช้งาน โดยเป็นสารหรือว่าสารเคมีที่ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่าปลอดภัย”

ก่อนหน้านี้ได้มีการแชร์คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันในประเทศฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับความเสี่ยงในการรับประทานสารเคลือบฟู้ดเกรด อ่านรายงานของ AFP ได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา