ผู้หญิงเดินผ่านซากปรักหักพังริมแม่น้ำ หลังระดับน้ำลดลงในเขตเมืองโบราณฮอยอัน พื้นที่มรดกโลกขององค์การยูเนสโก เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ภายหลังจากที่พายุไต้ฝุ่นโมลาเบพัดผ่านไป (AFP / Manan Vatsyayana)

คลิปวิดีโอเก่าถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นวิดีโอพายุไต้ฝุ่นโมลาเบในประเทศเวียดนาม

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2020 เวลา 08:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
วิดีโอหนึ่งได้ถูกแชร์ออกไปหลายพันครั้งทางเฟซบุ๊ก พร้อมคำกล่าวอ้างว่าวิดีโอนี้แสดงพายุไต้ฝุ่นโมลาเบขณะขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามในเดือนตุลาคม 2563 คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ วิดีโอนี้รวบรวมคลิปเหตุการณ์จากรายงานออนไลน์เกี่ยวกับพายุไต้ฝุ่นมังคุด ที่พัดถล่มมาเก๊า ฮ่องกง และบางส่วนของประเทศจีนในปี 2561

วิดีโอนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 3,200 ครั้ง

Image

คำบรรยายวิดีโอเขียนว่า “โมลาเบ ขึ้นเวียดนามแล้ว ไทยเตรียมพร้อม กันหรือยัง”

ไต้ฝุ่นโมลาเบได้พัดถล่มประเทศเวียดนามและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเดือนตุลาคม 2563 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ไต้ฝุ่นโมลาเบขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและสร้างความเสียหายในเส้นทางที่พายุลูกดังกล่าวพัดผ่าน สำนักข่าว AFP รายงาน
 

คลิปวิดีโอและคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่ นี่และนี่

คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ คลิปวิดีโอทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนพายุไต้ฝุ่นโมลาเบ

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลพบว่าวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ถูกเผยแพร่ออนไลน์ในรายงานเกี่ยวกับพายุไต้ฝุ่นมังคุด ซึ่งพัดถล่มบางส่วนของประเทศจีน ฮ่องกง และมาเก๊าในเดือนกันยายน 2561

พายุไต้ฝุ่นมังคุดเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดลูกหนึ่งในปี 2561 โดยทิ้งร่อยรอยความเสียหายขณะพัดผ่านประเทศฟิลิปปินส์ มาเก๊า ฮ่องกง และบางส่วนของประเทศจีน สำนักข่าว AFP รายงานที่นี่

คลิปแรก

คลิปวิดีโอแรกถูกโพสต์ลงยูทูปเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2561 โดยวิดีโอดังกล่าวมีชื่อที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “มังคุดถล่มมาเก๊า”

ในคลิปวิดีโอดังกล่าวสามารถได้ยินคนพูดภาษาจีนกวางตุ้ง ภาพในคลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นพื้นที่ใกล้กับตลาดในเขต Avenida Horta e Costa ของมาเก๊า

 

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปวิดีโอแรกในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอยูทูปปี 2561 (ขวา)

Image

คลิปที่สอง

คลิปวิดีโอที่สองถูกโพสต์ลงยูทูปเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2560 โดยวิดีโอดังกล่าวมีชื่อที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ฝูงนกบินเหนือฮูสตัน เท็กซัส”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปวิดีโอที่สองในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอยูทูปปี 2560 (ขวา)

Image

คลิปวิดีโอดังกล่าวยังถูกโพสต์ลงช่องยูทูปของหนังสือพิมพ์ในสหราชอาณาจักร Daily Mailพร้อมคำอธิบายคล้ายๆ กัน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561

คลิปที่สาม

คลิปวิดีโอเดียวกับคลิปที่ 3 ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดถูกโพสต์ที่นี่บนเว็บ Bilibili เว็บไซต์แชร์วิดีโอในนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2561

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปวิดีโอที่สามในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอปี 2561 บนเว็บไซต์ Bilibili (ขวา)

Image

คลิปดังกล่าวถ่ายที่ฮ่องกง โดยสามารถสังเกตได้จากที่นี่บนแผนที่ของกูเกิล

คลิปนี้ได้ถูกเผยแพร่ออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นไต้ฝุ่นที่ประเทศญี่ปุ่น AFP รายงานที่นี่

คลิปที่สี่

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ Metro ในสหราชอาณาจักรได้เผยแพร่วิดีโอเดียวกับคลิปที่สี่ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ในรายงานฉบับนี้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2561

รายงานมีชื่อว่า “วิดีโอ พ่อลูกถูกไต้ฝุ่นมังคุดพัดปลิว” คำบรรยายของวิดีโอเขียนว่า “พ่อและลูกในฮ่องกงถูกพายุไต้ฝุ่นมังคุดพัดปลิว”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปวิดีโอที่สี่ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอในรายงานปี 2561 ของ Metro (ขวา)

Image

คลิปวิดีโอเดียวกันได้ถูกเผยแพร่ที่นี่ในรายงานเกี่ยวกับพายุไต้ฝุ่นมังคุดเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2561 ของ SET News สถานีโทรทัศน์ในไต้หวัน

คลิปที่ห้า

คลิปวิดีโอที่ห้าปรากฏอยู่ในรายงานเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2561 ฉบับนี้ของ Evening Standard ซึ่งเขียนพาดหัวว่า “วิดีโอพายุไต้ฝุ่นมังคุด: จังหวะระทึกขณะล็อบบี้โรงแรมในประเทศจีนถูกน้ำท่วมฉับพลัน”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปวิดีโอที่ห้าในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอในในรายงานของ Evening Standard (ขวา)

Image

คลิปวิดีโอเดียวกันได้ถูกเผยแพร่โดยหนังสือพิมพ์ the New York Post ในสหรัฐฯ ในวิดีโอเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่พายุไต้ฝุ่นมังคุดทำให้น้ำท่วมลอบบี้ของโรงแรมรีสอร์ท Sheraton Dameisha ในเมืองเซินเจิ้น ทางภาคใต้ของประเทศจีน

ภาพในวิดีโอดังกล่าวตรงกับภาพถ่ายด้านในซึ่งถูกแท็กในแผนที่กูเกิลของโรงแรมรีสอร์ท Sheraton Dameisha

คลิปที่หก

AFP พบคลิปวิดีโอที่หกถูกเผยแพร่ที่นี่เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 ในบทความที่เกี่ยวกับไต้ฝุ่นมังคุดบนเว็บไซต์ของ KKNews.cc สื่ออนไลน์ในไต้หวัน

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปวิดีโอที่หกในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอในในรายงานของ KKNews (ขวา)

Image

คลิปที่เจ็ด

AFP พบว่าคลิปวิดีโอที่เจ็ดปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ของ South China Morning Post หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในฮ่องกง

รายงานเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2561 เขียนพาดหัวโดยแปลเป็นภาษาไทยว่า “ไต้ฝุ่นมังคุด พายุลูกที่ทรงพลังที่สุดในปี 2561 พัดผ่านฮ่องกง”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปวิดีโอที่เจ็ดในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอในในรายงานของ South China Morning Post (ขวา)

Image

สื่อฮ่องกง Hong Kong Free Press รายงานว่า เครนก่อสร้างที่ทนแรงลมของไต้ฝุ่นมังคุดไม่ไหวได้พังถล่มลงมาที่ถนนข้างล่าง โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในย่าน Tai Kok Tsui นี่คือภาพสถานที่เดียวกันจากแผนที่ของกูเกิล

คลิปที่แปด

AFP พบคลิปวิดีโอที่ยาวกว่าคลิปที่แปดในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ในบทความเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2561 ฉบับนี้ของ Newsflare บริษัทสื่อในสหราชอาณาจักร

เนื้อหาบางส่วนแปลเป็นภาษาไทยว่า “ไต้ฝุ่นมังคุดพัดขึ้นฝั่งทางภาคใต้ของมณฑลกวางตุ้ง พร้อมกำลังลมกว่า 100 ไมล์ต่อชั่วโมง”

“วิดีโอแสดงเหตุการณ์ที่ต้นไม้ขนาดใหญ่ในเมืองเซินเจิ้นถูกถอนรากถอนโคน และในเมืองเดียวกันก็จะเห็นเครนก่อสร้างที่พังถล่มลง”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปวิดีโอที่แปดในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอของ Newsflare (ขวา)

Image

คลิปที่เก้า

คลิปวิดีโอเดียวกับคลิปที่เก้าในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดปรากฏอยู่ในรายงานเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2561 ฉบับนี้ของ Beyazgazete สื่อออนไลน์ในประเทศตุรกี

พาดหัวของรายงานดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า “ไต้ฝุ่นมังคุดถล่มจีน สถิติ ตาย 4 บาดเจ็บ 200”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปวิดีโอที่เก้าในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอในในรายงานของ Beyazgazete (ขวา)

Image

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา