ป้ายประท้วงของอดีตมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ถูกตัดต่อ

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 เวลา 10:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายหนึ่งได้ถูกแชร์ออกไปทางเฟซบุ๊กพร้อมคำกล่าวอ้างว่าภาพดังกล่าวแสดงมารีญา พูลเลิศลาภ อดีตมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ถือป้ายข้อความที่ประกาศว่าเธอจะไม่รับงานจนกว่าประเทศไทยจะไม่มีกษัตริย์ โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไปหลังการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลซึ่งนำโดยกลุ่มเยาวชนและนักศึกษา คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ข้อความบนป้ายประท้วงในภาพถ่ายนี้ถูกตัดต่อ ข้อความในภาพต้นฉบับเป็นข้อความที่เรียกร้องความเท่าเทียมกันของทุกฝ่าย

ภาพถ่ายนี้ได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

Image

รูปดังกล่าวแสดงภาพ มารีญา พูลเลิศลาภ ผู้ชนะการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2560

ภาพถ่ายดังกล่าวแสดงภาพเธอ พร้อมกระดาษที่มีข้อความเขียนว่า “จะไม่ขอรับงาน… จนกว่าประเทศไทยจะไม่มีกษัตริย์”

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า

“‘น้องมารีญา’ ถ้าคิดแบบนี้ก็ตกงาน ยาว”
 

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ประเทศไทยได้เห็นการประท้วงที่นำโดยกลุ่มนักเรียน นักศึกษา โดยมีข้อเรียกร้องให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเคลื่อนไหวดังกล่าวยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งถือเป็นหัวข้อต้องห้ามในอดีตของประเทศไทย สำนักข่าว AFP รายงานที่นี่

ภาพถ่ายเดียวกันและคำกล่าวอ้างคล้ายๆ ได้ถูกแชร์ที่นี่ นี่ นี่และนี่

ผู้ใช้เฟซบุ๊กบางคนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นในโพสต์ดังกล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้บางรายเชื่อว่าป้ายข้อความดังกล่าวเป็นภาพจริง

ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งเขียนว่า “น้องใช้เงินที่มีรูปในหลวงหรือเปล่าคิดใหม่นะ”

ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายเขียนว่า “แรงไปน้อยเอ้ย”

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของคอมเม้นท์

Image
Image

คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ภาพถ่ายนี้ถูกตัดต่อ

การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญ พบภาพถ่ายต้นฉบับนี้ในรายงานเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ของสปริงนิวส์ สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลของประเทศไทย

Image

รายงานดังกล่าวเขียนพาดหัวว่า “มารีญา-วรรณสิงห์ เคลื่อนไหวชูป้ายประท้วงแยกอนุเสาวรีย์ชัยฯ”

ภาพถ่ายบนเว็บไซต์ของสปริงนิวส์แสดงภาพมารีญาพร้อมป้ายที่มีข้อความที่เขียนว่า “#Justice4All”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากรายงานของสปริงนิวส์ (ขวา)

Image

สำนักข่าว AFP พบภาพถ่ายต้นฉบับถูกโพสต์ลงบัญชีอินสตาแกรมของมารีญา เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 เกือบหนึ่งเดือนก่อนภาพตัดต่อถูกแชร์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

คำบรรบรรยายโพสต์ดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า “จะไม่มีชัยชนะเมื่อความอยุติธรรมเป็นเลือดที่ไหล เกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวาน เรามาพร้อมความหวังในสันติภาพและความรัก ความยุติธรรมต้องเกิดขึ้น เพื่อนๆ ของเราต้องได้รับการปล่อยตัว #ความยุติธรรมสำหรับทุกคน #ปล่อยเพื่อนเรา #หยุดคุกคามประชาชน #เกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา