ผู้โดยสารรถไฟฟ้าใส่หน้ากากอนามัยและใช้โทรศัพท์มือถือขณะเดินทางในกรุงเทพฯ ภายหลังการระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 (AFP / Mladen Antonov)

ภาพตัดต่อถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าประเทศไทยเตรียมใช้มาตรการเคอร์ฟิวรอบใหม่ ภายหลังยอดผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 22 เมษายน 2564 เวลา 11:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้นในประเทศไทย ภาพกราฟิกรูปหนึ่งได้ถูกแชร์ในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊กและไลน์ พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นรายงานข่าวการประกาศเคอร์ฟิวรอบใหม่ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2564 เป็นต้นไป คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ภาพนี้ถูกตัดต่อจากภาพประกอบรายงานข่าวการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศในเดือนเมษายน 2563 รัฐบาลไทยยืนยันว่าคำกล่าวอ้างนี้เป็น “ข่าวปลอม”

ภาพนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 6,500 ครั้งก่อนที่โพสต์ดังกล่าวจะถูกลบออกไป

ภาพดังกล่าวมีโลโก้ของช่อง 3 และมีข้อความที่เขียนว่า “เคอร์ฟิวทั่วประเทศ ห้ามออกจากบ้าน 4 ทุ่ม - ตี 4 / เริ่ม 23 เม.ย. 64”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดดังกล่าวถูกแชร์ออนไลน์ในขณะที่หลายจังหวัดในประเทศไทยได้ใช้มาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทาง รวมไปถึงการจำกัดเวลาในการเปิด-ปิดสถานที่ต่างๆ เพื่อพยายามควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ภายหลังจากช่วงเทศกาลวันหยุดยาว สำนักข่าว AFP รายงาน

กระทรวงสาธารณสุขรายงานเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 48,000 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 117 ราย

ภาพกราฟิกเดียวกันถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันที่นี่ นี่ นี่และนี่ ทางเฟซบุ๊ก

ภาพกราฟิกเดียวกันยังถูกแชร์ในแอปพลิเคชันไลน์

ด้านล่างคือภาพกราฟิกเดียวกัน ที่ถูกส่งต่อทางไลน์

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของภาพดังกล่าวที่ถูกส่งทางไลน์

คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ภาพนี้ถูกตัดต่อ

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพต้นฉบับถูกโพสต์ลงทางทวิตเตอร์ของช่อง 3 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563

ภาพที่ถูกตัดต่อและนำมาแชร์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ถูกเปลี่ยนวันที่จาก “3 เม.ย. 63” เป็น “23 เม.ย. 64”


ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพตัดต่อในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพต้นฉบับ (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพตัดต่อในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพต้นฉบับ (ขวา)

รัฐบาลไทยได้ปฎิเสธคำกล่าวอ้างในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด โดยระบุว่าคำกล่าวอ้างนี้เป็น “ข่าวปลอม” ในโพสต์ทางเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564

คำบรรรยายโพสต์ดังกล่าวเขียนบางส่วนว่า “ไม่ได้มีการประกาศเคอร์ฟิว หรือควบคุมเวลาออกนอกเคหสถานแต่อย่างใด”

ช่อง 3 ได้แจ้งเตือนประชาชนเรื่องภาพตัดต่อดังกล่าวในแถลงการณ์ฉบับนี้ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564

เนื้อหาของโพสต์ช่อง 3 เขียนระบุว่า “ขอให้ทุกท่านระมัดระวังการส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ  และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา