นี่เป็นภาพถ่ายจากรายงานการปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูกให้กับทารกในปี 2528 ก่อนการระบาดของโควิด-19 มากกว่า 30 ปี

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 9 พฤษภาคม 2020 เวลา 11:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายนี้ได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่านี่คือรูปถ่ายของคุณแม่ชาวอิตาลีที่กำลังอุ้มลูกของเธอเป็นครั้งสุดท้ายหลังจากล้มป่วยจากโรคโควิด-19 ในระยะสุดท้าย คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ รูปถ่ายนี้ปรากฏอยู่ในรายงานเกี่ยวกับการปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูกให้กับทารกในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2528 ก่อนการระบาดของโควิด-19 กว่า 30 ปี

รูปถ่ายนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 และได้ถูกแชร์ออกต่อไปอีกกว่า 1,100 ครั้ง

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

คำบรรยายในโพสต์เขียนว่า “#ก่อนจากลา #ภาพสุดสะเทือนใจ #แม่ป่วยโควิดกำลังจะตายขอกอดลูกน้อยครั้งสุดท้ายก่อนชีวิตจะดับสูญ”

วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 องค์การอนามัยโลกรายงานว่าเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคโควิด-19 ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 250,000 ราย และมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 3,600,000 คน

ประเทศอิตาลีนับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 214,000 คนและเสียชีวิตเกือบ 30,000 ราย

รูปภาพเดียวกันถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันที่นี่ นี่ ทางเฟซบุ๊ก และนี่ทางทวิตเตอร์

คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ รูปถ่ายนี้ปรากฏอยู่ในรายงานเกี่ยวกับการปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูกให้กับทารก ที่ศูนย์รักษาโรคมะเร็ง ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2528

เมื่อนำรูปภาพมาค้นหาย้อนหลังในกูเกิล พบว่ารูปถ่ายที่ปรากฏอยู่ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดนั้นเหมือนกับรูปนี้ ที่ได้ถูกตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ Magnum Photos Agency ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของรูปภาพในเว็บไซต์ของ Magnum Photos Agency

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของรูปภาพในเว็บไซต์ของ Magnum Photos Agency

คำบรรยายรูปภาพเขียนว่า “สหรัฐอเมริกา รัฐซีเเอตเทิล วอชิงตัน พ.ศ. 2528 ศูนย์รักษาโรคมะเร็ง Fred Hutchinson - ทารกอยู่ในตู้ปลอดเชื้อ ทารกได้ถูกฉายรังสีก่อนการปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูก”

รูปถ่ายนี้ถูกถ่ายขึ้นโดยช่างภาพ Burt Glinn

สำนักข่าว AFP ได้ติดต่อไปยัง Magnum Photos และได้รับการยืนยันทางอีเมลเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 ว่า คำบรรยายของรูปภาพเป็นเนื้อหาที่ถูกต้อง

Matthew Murphy  ผู้อำนวยการเก็บรูปภาพและผู้จัดการด้านลิขสิทธิ์ที่ Magnum Photos กล่าวว่า “รูปภาพข้างต้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 แต่อย่างใด”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา