นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าทุเรียนเทศสามารถรักษามะเร็งได้

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 26 สิงหาคม 2020 เวลา 11:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างเก่าถูกนำกลับมาแชร์ใหม่ในโพสต์ทางเฟซบุ๊กซึ่งกล่าวว่าทุเรียนเทศสามารถรักษามะเร็งได้และมีประสิทธิภาพมากกว่าเคมีบำบัดถึง 10,000 เท่า คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันว่าทุเรียนเทศสามารถรักษามะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 และได้ถูกแชร์ออกไปกว่า 152,000 ครั้ง

Image

ข้อความในโพสต์เขียนบางส่วนว่า “ทุเรียนเทศ มีฤทธิ์ฆ่ามะเร็ง ดีกว่าครีโม! ผลการรับรองจากแล็บมากมายกล่าวว่า ผลไม้ชนิดนี้สามารถฆ่าเซลมะเร็งได้มากกว่า 12 ชนิด ซึ่งรวมถึงมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกมาก มะเร็งปอด และมะเร็งตับอ่อน ผลจากการรับประทานยาที่สกัดจากทุเรียนเทศ หรือการนำใบมาต้มเป็นชาแล้วรับประทาน จะช่วยในการฆ่าเซลมะเร็ง ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำคีโมถึง 10,000 เท่า แต่ไม่ทำร้ายเซลดีในร่างกาย”

คำกล่าวอ้างเดียวกันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ และถูกกลับมาแชร์อีกครั้งไม่นานมานี้ในปี 2563 ที่ นี่และนี่

คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปว่า ทุเรียนเทศ จะสามารถรักษาโรคมะเร็งได้

ข้อมูลในบทความนี้เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ของศูนย์รักษามะเร็งแห่งอเมริกาแปลเป็นภาษาไทยว่า “ขณะที่การวิจัยจะชี้ว่าทุเรียนเทศสามารถรักษามะเร็งได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์ ซึ่งหมายความว่ายังไม่มีหลักฐานเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย”

สถาบันมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักรได้อธิบายในบทความนี้ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าทุเรียนเทศสามารถใช้รักษามะเร็งได้”

รายงานฉบับดังกล่าวเขียนเตือนเรื่องผลเสียของการบริโภคทุเรียนเทศ ซึ่งรวมไปถึง “ความเปลี่ยนแปลงต่อเส้นประสาทและความผิดปกติในการเคลื่อนไหว” และ “ความเสียหายต่อไตและตับหากบริโภคบ่อยๆ”

ดร.เรย์มอน ชาง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมะเร็งในนครนิวยอร์กและผู้เขียนหนังสื่อเรื่อง “Beyond the Magic Bullet: The Anti-Cancer Cocktail” ปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่ระบุว่าทุเรียนเทศสามารถรักษามะเร็งได้

เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ในอีเมลเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 โดยกล่าวว่า “มีคำกล่าวอ้างที่ขาดความรับผิดชอบ (หรือเกิดจากความไม่รู้จริง) อยู่เยอะที่กล่าวว่าอาหารบางชนิดหรืออาหารเสริมสามารถ ‘ฆ่า’ มะเร็งได้ และมักจะเป็นอุบายด้านการตลาดเพื่อขายของเหล่านี้”

ชาง กล่าวเสริมว่างานวิจัยส่วนใหญ่เกี่ยวกับสรรพคุณในการฆ่าเซลล์มะเร็งของผลไม้ชนิดนี้ “อ้างอิงจากการทดลองในห้องแล็บ” ที่มี “ข้อจำกัด”

“พวกเขาเติมของที่ใช้อ้าง สมมุติว่าเป็นน้ำมังคุด เข้าไปในหลอดทดลองซึ่งมีเซลล์มะเร็งอยู่ แล้วก็เฝ้าสังเกตเซลล์เหล่านี้ขณะมันตายลง จากนั้นเขาจึงอ้างว่าสารสกัดจากมังคุดสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ แล้วนั้นก็แปลว่าเราต้องกินมังคุดให้มากขึ้น” เขาอธิบาย “หลักการนี้ผิด จินฆ่ามะเร็งในหลอดทดลองได้ แต่ไม่ได้แปลว่าผู้ป่วยมะเร็งควรไปหามาร์ตินี่มาดื่ม!”

“สั้นๆ มีหลายอย่างที่สามารถฆ่ามะเร็งในหลอดทดลองได้ เช่นคลอร็อกซ์ กรด น้ำส้มสายชู พริก แต่การทดลองในหลอดทดลองไม่ได้หมายความว่ามันใช้กับคนได้” ชางกล่าวสรุป

สถาบันมะเร็งแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ฉบับนี้ซึ่งระบุว่าคำกล่าวอ้างนี้เป็นข้อมูลเท็จ

Image

เนื้อหาบางส่วนของรายงานเขียนว่า “สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าใบทุเรียนเทศสามารถนำมาใช้เป็นยารักษามะเร็งในคนได้ ซึ่งแม้ว่าจะมีรายงานวิจัยส่วนหนึ่งที่ระบุว่าใบทุเรียนเทศมีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีกว่ายาเคมีบำบัดนั้น แต่ข้อมูลนี้เป็นเพียงงานวิจัยในระดับเซลล์ และสัตว์ทดลองเท่านั้น จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าใบทุเรียนเทศสามารถนำมาใช้เป็นยารักษามะเร็งในคนได้”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา