
โพสต์ออนไลน์ในประเทศไทย แชร์คำเตือนเท็จว่าโรคระบาดในโคกระบือ “ลามสู่หมู”
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 22 มิถุนายน 2564 เวลา 08:30
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 และได้ถูกแชรต่อมากกว่า 50,000 ครั้ง
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “ช่วงนี้คนที่ชอบกินเนื้อวัว เนื้อหมู ต้องพิจารณาดีๆ ลามถึงหมูแล้ว”
โพสต์ดังกล่าวแสดงภาพถ่ายของวัวและหมูที่มีตุ่มขึ้นบนผิวหนัง
Avertissement sur le contenu
คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ออนไลน์หลังเกิดการระบาดของโรคลัมปี สกินในประเทศไทย ซึ่งทำให้โคกระบือนับหมื่นๆ ตัวติดเชื้อดังกล่าว ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์รายงานว่ามีโคกระบือที่ติดเชื้อโรคลัมปี สกินกว่า 51,222 ตัวใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ
คำกล่าวอ้างและภาพถ่ายชุดเดียวกัน ได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่และนี่
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ
“ไม่มีความเสี่ยงต่อคน”
องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ระบุว่าเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคลัมปี สกิน “มีความเฉพาะกับโฮสต์ (host) และทำให้เกิดโรคได้ในโคและกระบือเท่านั้น”
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเช่นกันว่าหมูไม่สามารถติดโรคลัมปี สกินได้
“โรคลัมปี สกินเป็นโรคที่ระบาดในโคกระบือเท่านั้น” เขากล่าวกับ AFP “โรคดังกล่าวไม่สามารถติดได้ในคนและหมู อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของความกังวลว่าโรคจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค สำหรับโรคลัมปี สกิน เชื้อโรคจะไม่เข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อของโคกระเบือ
นอกจากนี้เรายังมีกฏหมายเพื่อควบคุมปศุสัตว์ที่จะเข้าสู่โรงฆ่า ซึ่งก็คือกฏหมายพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์การจำหน่ายเนื้อสัตว์ โดยมีข้อห้ามเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยเข้าสู่โรงฆ่าสัตว์”
เขากล่าวถึงภาพของหมูที่ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า ภาพดังกล่าวไม่ได้แสดงโรคลัมปี สกิน
“การสังเกตจากภาพ มีความเป็นไปได้อยู่ 2 ประการ 1 คือเกิดจากแมลงกัด 2 คือโรค swine pox หรือโรคฝีดาษหมู โดยเป็นโรคที่มีอยู่แล้วในหมู” นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์กล่าว
คเชนทร์ วงศ์สถาพรชัย ผู้จัดการระดับภูมิภาคของศูนย์ฉุกเฉินโรคสัตว์ข้ามแดน องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ยืนยันกับ AFP ในวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ว่า “ไวรัส LSD เกิดจากเชื้อไวรัสที่ค่อนข้างจะมีความจำเพาะกับโฮสต์มากๆ (highly host specific) และทำให้เกิดโรคได้เฉพาะในโคและกระบือเท่านั้น”
“โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ไม่ว่าจะโดยการสัมผัสโดยตรงหรือจากการบริโภคเนื้อวัวที่ติดเชื้อ” เขาอธิบายกับ AFP เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ที่ระบุว่าคนในประเทศไทย เสียชีวิตจากการกินเนื้อของวัวที่ติดเชื้อที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา