พระสงฆ์เข้ารับการฉีดวัคซีนโคโรนาแวคซึ่งผลิตโดยบริษัทซิโนแวคของประเทศจีน ที่โรงพยาบาลสงฆ์ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 (AFP / Jack Taylor)

โพสต์ออนไลน์ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวเหตุผลว่าทำไมบางคนมีอาการผลข้างเคียงต่อวัคซีนโควิด-19

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 25 มิถุนายน 2564 เวลา 06:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
หลายโพสต์ที่ถูกแชร์อย่างต่อเนื่องทางเฟซบุ๊ก กล่าวว่าคนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วไม่เกิดผลข้างเคียงแสดงว่าร่างกาย “ไม่ค่อยแข็งแรง” คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด: ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอธิบายกับ AFP ว่าผลข้างเคียงต่อวัคซีนไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแรงของบุคคลนั้่นเสมอไป องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่าการที่บุคคลหนึ่งไม่แสดงผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้แปลว่าวัคซีนนั้น “ไม่ได้ผล” เพราะแต่ละคนจะมีการ “ตอบสนองที่ต่างกัน” ต่อวัคซีน

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564

Image


คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “สิ่งนึงที่เราเข้าใจผิดกันมากคือ การฉีดวัดซีนแล้วไม่มีอาการเลยเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่นะคะ”

“ถ้าฉีดแล้วมีอาการปวดเนื้อปวดตัวร้อนๆหนาวๆมีไข้ สิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่าร่างกายเราสร้างภูมิคุ้มกันต้านสิ่งแปลกปลอม(ไวรัส)ที่เข้าสู่ร่างกาย จึงมีอาการดังกล่าวเป็นเรื่องดีที่บอกว่าร่างกายเรายังแข็งแรง

แต่ถ้าฉีดแล้วเฉยๆ แสดงว่าร่างกายไม่ค่อยมีภูมิต้านทานเท่าไหร่ไม่รู้สึกรู้สากับสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย นั่นบอกว่าร่างกายเราไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ค่ะ”

ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2564 ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อแอสตราเซเนกาและโคโรนาแวคซึ่งผลิตโดยบริษัทซิโนแวค ไปแล้วมากกว่า 8.4 ล้านโดส

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอธิบายว่า คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าความรุนแรงในการเกิดผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 แตกต่างออกไปในแต่ละคน และไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นสุขภาพดีแค่ไหน

“ร่างกายของคนเราตอบสนองต่อสิ่งนอกร่างกายไม่เท่ากัน  เหมือนกับเมื่อเวลาฉีดวัคซีนเข้าร่างกาย ก็จะมีอาการที่ไม่เหมือนกัน” เขาบอกกับ AFP เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564

“ก็เหมือนกับบางคนที่แพ้อาหารบางอย่าง แต่บางคนไม่แพ้”

“ถ้าลองเปรียบเทียบคนอายุเท่ากัน เพศเดียวกัน ที่แข็งแรงเหมือนกัน ก็จะตอบสนองต่อวัคซีนไม่เหมือนกัน แสดงการอักเสบมากน้อยไม่เท่ากัน”

“ทุกคนมีการตอบสนองที่ต่างกัน”

องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่าในกรณีที่บางคนไม่ได้แสดงผลข้างเคียงหลังการรับวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้หมายความว่าการฉีดวัคซีน “ไม่ได้ผล”

ข้อมูลบนเว็บไซต์ของ WHO อธิบายว่า “ผลข้างเคียงที่พบบ่อยและไม่รุนแรงหรือปานกลางนั้นถือเป็นเรื่องดี: เพราะจะแสดงว่าวัคซีนได้ผล ขณะเดียวกันการไม่มีผลข้างเคียงไม่ได้หมายความว่าวัคซีนไม่ได้ผล เพราะการตอบสนองของแต่ละคนจะแตกต่างกัน”

ในประเทศที่มีการฉีดวัคซีน บุคคลที่ถือว่าได้รับวัคซีนครบ (fully vaccinated) คือช่วง 2 อาทิตย์หลังรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะมีอาการจากผลข้างเคียงหรือไม่

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐอเมริกา ระบุว่าการได้รับวัคซีนครบคือช่วง 2 อาทิตย์หลังรับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่สอง โดยวัคซีนโควิด-19 ส่วนมากจะต้องฉีดทั้งหมด 2 เข็ม

ข้อมูลของ CDC เขียนว่า สำหรับวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันของบริษัทแจนส์เซน จะใช้เพียงแค่โดสเดียว

ข้อมูลบนเว็บไซต์ของ CDC กล่าวว่า ผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 -- ซึ่งรวมไปถึงอาการปวดที่แขนและไข้ถือเป็น “สัญญาณปกติว่าร่างกายกำลังสร้างภูมิคุ้มกัน” แต่สำหรับบางคนแล้วจะ “ไม่มีผลข้างเคียง”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา