สื่อสังคมออนไลน์แชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดว่าพืชสมุนไพรโบราณกระท่อมสามารถใช้ต้านโควิด-19
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 18 มิถุนายน 2021 เวลา 09:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2564
ข้อความบนโพสต์เขียนว่า “ใบกระท่อมต้านโควิด”
“เคสนี้ไม่ใช่แค่ครอบครัวเดียวนะ มีถึง 3-4 ครอบครัวแล้วที่เจอเคสนี้
แต่ถึงยังไงวงการแพทย์ ก็ไม่ออกมายืนยันหรอก เพราะถ้าแถลงไป วัคซีนที่สั่งมา คงขายไม่ออก”
กระท่อมเป็นพืชสมุนไพรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และปาปัวนิวกินี ซึ่งใช้กันมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายศตวรรษ เนื่องจากสรรพคุณในการบรรเทาอาการเจ็บป่วยและมีฤทธิ์เป็นยากระตุ้นในระดับอ่อน สำนักข่าว AFP รายงาน
อย่างไรก็ตาม กระท่อมมีสารประกอบเป็นฝิ่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเสพติด
ในเดือนพฤษภาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8 ) พ.ศ. 2564 โดยได้ยกเลิกพืชกระท่อมออกจากรายการยาเสพติดให้โทษ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 สิงหาคม 2564 และจะส่งผลให้กระท่อมไม่เป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ กระท่อมได้รับการปลดล็อคเพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์ในปี 2563
คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าใบกระท่อมสามารถนำมาใช้ป้องกันโควิด-19 ได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่
อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด
นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่ายังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าใบกระท่อมสามารถใช้ป้องกันโควิด-19 ได้
“ในเเง่ของการต้านโควิดนั้น เป็นไปไม่ได้ และไม่แนะนำให้ทานเนื่องจากเป็น ยาเสพติด” เขาบอกกับสำนักข่าว AFP “ยังไม่มีทดลองในกลุ่มใดๆ ทั้งสิ้น”
เขาบอกว่ายัง “ไม่มีงานวิจัย” ที่จะสามารถสนับสนุนว่าพืชดังกล่าวสามารถนำมาใช้เพื่อป้องกันโควิด-19 โดยระบุเพิ่มว่ากระท่อมยังคงถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายอยู่ ณ เวลาที่โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดถูกแชร์ทางออนไลน์
นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนว่ามีงานวิจัยในการนำพืชกระท่อมมาใช้เพื่อเป็นยาน้อยมาก ส่วนด้านเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้ปฏิบัติการปราบปรามในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับการเสพติดฝิ่นที่เพิ่มมากขึ้น
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของประเทศไทย ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ในรายงานฉบับนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2563
โดยรายงานเขียนพาดหัวว่า “ข่าวปลอม อย่าแชร์! พืชกระท่อมช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้”
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างต่างที่ถูกแชร์ในโพสต์เรื่องวิธีการรักษาโควิด-19
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา