อินฟลูเอนเซอร์ยูทูปปฎิเสธคำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับการ “แจกเงินรางวัล”
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 22 มกราคม 2021 เวลา 04:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564
ภาพดังกล่าวถ่ายในร้านขายทองแห่งหนึ่ง โดยในภาพแสดง พิมรี่พาย ใส่หมวกสีดำและถือถาดที่มีธนบัตรกองอยู่ โดยมีผู้หญิงอีกคนมองอยู่ทางซ้าย
คำบรรยายเขียนว่า “วันนี้พิมรี่พายจะมาแจกเงินประมาณ 20 ล้าน”
“ยินดีด้วย** ขึ้นสีส้ม วันนี้วันเดียว เข้าใจดีจะแจกให้คนล่ะ 3,000 เงินมีจำนวนจำกัด หมดแล้วหมดเลย.มาก่อนได้ก่อนใครมาช้าหมดสิทธิ์ ขี้นสีส้มแล้ว เข้าไปรับเงินได้ที่ไลน์นี้เลย @919pxndp”
พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ หรือ พิมรี่พาย เป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคนทางยูทูป โดยคลิปวิดีโอของเธอมีทั้งการโปรโมทสินค้าและการกินอาหารโชว์
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2564 เธอประกาศผ่านทางเฟซบุ๊กว่าเธอได้บริจากเงินจำนวน 500,000 บาท เพื่อพัฒนาหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
วิดีโอนี้ ซึ่งถูกโพสต์ลงในช่องยูทูปของเธอ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ก่อนวันเด็กแห่งชาติ แสดงพิมรี่พายบริจากแผงโซลาร์เซลล์ ปลูกสวนผัก และบริจากรองเท้าให้เด็กๆ ในหมู่บ้าน ข่าวสดรายงานที่นี่
แม้ว่าพิมรี่พายจะได้รับคำชมจากกิจกรรมดังกล่าว แต่คลิปวิดีโอนี้ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากย์วิจารณ์เช่นกัน โดยมีบางคนที่มองว่ากิจกรรมของเธอเป็น “การแก้ปัญหาอย่างผิวเผิน”
ภาพนี้และคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ
ภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ปรากฏอยู่ในรายงานข่าวหลายฉบับ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563
การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพนี้ถูกเผยแพร่ในรายงานฉบับนี้ของข่าวสด เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563
รายงานดังกล่าวเขียนพาดหัวว่า “พิมรี่พาย แม่ค้าดัง นั่งตุ๊กตุ๊ก หอบเงินสด เต็มกระเป๋า ไปซื้อทองเยาวราช ตื่นตูม! (คลิป)”
เนื้อหาบางส่วนของรายงานเขียนว่าเธอซื้อ “ทองแท่ง 100 บาท” เนื่องจาก “ห่วงสถานการณ์โลกต่างๆ ปัญหาสงคราม ประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย”
“แม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง พิมรี่พาย นั่งตุ๊กตุ๊ก หอบเงินสดมาซื้อทอง ที่เยาวราช โดยมีแฟนคลับเดินมาขอถ่ายรูปเป็นระยะ”
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากรายงานของข่าวสด (ขวา)
สำนักข่าว AFP ได้ติดต่อไปยังพิมรี่พาย โดยเธอยืนยันว่าโพสต์ที่กล่าวว่าเธอแจกเงินเป็นเรื่องเท็จ
เธออธิบายผ่านทางข้อความอินสตาแกรมเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 ว่า “ปลอมค่ะ ไม่เป็นความจริง ไม่เคยแจกค่ะ ภาพนี้ ซื้อทองเองในยูทูปค่ะ ถูกผู้ไม่หวังดีไปใช้ในทางที่ผิดค่ะ”
พิมรี่พายได้โพสต์เรื่องที่เธอไปซื้อทอง ลงในช่องยูทูปที่นี่
วิดีโอดังกล่าวมีชื่อว่า “พิมรี่พายตื่นตูม...ซื้อทอง 100 บาท !! [EP.3 l 2020]”
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา