ภาพเก่าของอดีตทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยและแกนนำนักศึกษา ถูกนำมาใช้กล่าวอ้างว่าต่างชาติแทรกแซงการชุมนุม
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 16 กันยายน 2020 เวลา 05:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพถ่ายชุดนี้ ซึ่งมีทั้งหมด 3 ภาพ ได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563
ภาพที่หนึ่งและภาพที่สอง ซึ่งเป็นภาพเดียวกัน แสดงแกนนำนักศึกษาไทย พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และอดีตเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เกล็น ที เดวีส์ ภาพที่สามเป็นภาพถ่ายระหว่างการประชุมของทั้งคู่
คำบรรยายของโพสต์ดังกล่าวเขียนบางส่วนว่า “สื่อนอกแฉม๊อบปลดแอกจัดชุมนุมใหญ่ปรึกษาทูตUSใกล้ชิด เตรียมยกระดับสู่ความรุนแรง คาดอ้างผู้ชุมนุมเป็นเหยื่อเปิดทางต่างชาติแทรกแซง”
คณะประชาชนปลดแอก เป็นการเคลื่อนไหวที่ริเริ่มโดนกลุ่มนักศึกษาในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 โดยกลุ่มดังกล่าวได้ออกมาเรียกร้องให้ยุบสภาและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 สำนักข่าว AFP รายงานว่ามีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ จันทรโอชา ซึ่งจัดโดยกลุ่มนักเรียนนักศึกษาขึ้นเกือบทุกวัน
ภาพถ่ายชุดเดียวกันพร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่ และในบนความออนไลน์ที่นี่
คำกล่าวอ้างเดียวกันได้ถูกส่งต่อผ่านไลน์ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากภาพถ่ายหน้าจอด้านล่าง
อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ
ภาพถ่ายเหล่านี้ถูกเผยแพร่เมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นเวลากว่า 4 ปีก่อนการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลในปี 2563
อดีตเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยเกล็น ที เดวีส์ หมดวาระการดำรงตำแหน่งไปเมื่อเดือนกันยายน 2561 เกือบสองปีก่อนการชุมนุมประท้วงในปี 2563
ภาพแรกและภาพที่สอง
การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลและการค้นหาด้วยคำสำคัญพบภาพที่หนึ่งและภาพที่สองปรากฏอยู่ในโพสต์เฟซบุ๊กนี้ของพริษฐ์ ชิวารักษ์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559
โพสต์ดังกล่าว ซึ่งได้แท็กสถานที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย มีคำบรรยายซึ่งเขียนว่า “ขอบคุณท่าน Glynn Davies เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และภริยาที่ให้เกียรติเชิญผมเข้าร่วมวงสนทนาโต๊ะกลมประเด็นการศึกษาและเยาวชน ณ บ้านพักเอกอัครราชทูต ถนนวิทยุ”
เกล็น ที เดวีส์ หมดวาระในตำแหน่งเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ลงในเดือนกันยายน ปี 2561 เกือบสองปีก่อนเกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในเดือนกรกฎาคม 2563
ซึ่งปัจจุบัน ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี ดำรงตำแหน่งเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพจากโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากโพสต์เฟซบุ๊กของพริษฐ์เมื่อปี 2559 (ขวา)
ภาพที่สาม
การค้นหาด้วยคำสำคัญพบภาพที่สามถูกเผยแพร่ที่นี่โดยบัญชีเฟซบุ๊กของสถานทูตสหรัฐฯในกรุงเทพฯ
คำบรรยายของโพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวเขียนว่า “เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน เอกอัครราชทูตเดวีส์และภริยาเป็นเจ้าภาพจัดวงสนทนากับเยาวชนผู้นำด้านกิจกรรมเคลื่อนไหวและรณรงค์”
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพจากโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากโพสต์เฟซบุ๊กของสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2559 (ขวา)
โฆษกประจำสถานทูตสหรัฐฯ กรุงเทพฯ นิโคล ฟ็อกซ์ ยืนยันกับสำนักข่าว AFP ว่าอดีตเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เกลน ที เดวีส์ ได้พบกับพริษฐ์ระหว่าง “การพูดคุยกับกลุ่มนักเรียนและเยาวชน” ในปี 2559
“ทูตและบุคลากรของสถานทูตพบปะกับคนไทยจากหลายหลายกลุ่มอยู่บ่อยครั้งและการหารือเช่นนี้ไม่ได้หมายถึงการสนับสนุนมุมมองใด” นิโคลอธิบาย
“ในฐานะพันธมิตรของประเทศไทย เราสนับสนุนทุกฝ่ายในการปฏิบัติด้วยความคารพและความอดกลั้น และใช้การเจรจาที่สร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า สหรัฐอเมริกาไม่ได้มีความชอบหรือสนับสนุนกลุ่มการเมืองหรือบุคคลใดในไทยเป็นพิเศษ”
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ทางสถานทูตได้ออกแถลงการณ์ฉบับนี้ซึ่งปฎิเสธคำกล่าวอ้าง
พริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 โดยอธิบายว่า “ภาพถ่ายชุดนี้ถ่ายเมื่อ 4 ปีก่อนตั้งแต่ตอนที่ผมเป็นนักเรียนมัธยม อดีตทูตสหรัฐฯ ชวนผมไปร่วมการหารือโต๊ะกลมเกี่ยวกับการศึกษา”
พริษฐ์ กล่าวเพิ่มด้วยว่านักเรียนจากโรงเรียนอื่นก็ได้ไปร่วมการประชุมด้วย
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา